ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 7/2558

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 12:22 —สำนักโฆษก

สรุปผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมถึงข้อห่วงใยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินงานและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวคิดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มีการหารือถึงการกระจายความรับผิดชอบไปสู่สถานศึกษาที่มีความพร้อมเท่านั้น ยังไม่ต้องการการกระจายให้ท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างการกระจายอำนาจไปแล้ว ที่มีทั้งผลดีและไม่ดี
  • งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดกว่า 5 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากร เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีบุคลากรจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามงบบุคลากรก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในระบบการศึกษา ดังนั้นขอให้ทุกหน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ส่วนใดที่ดำเนินการแล้วไม่เกิดประโยชน์ ก็ควรปรับลดลง
  • การดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ การปรับหลักสูตร การลดชั่วโมงเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ
  • การประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานด้านการศึกษาให้ดีขึ้นหลายส่วน แต่สังคมอาจจะยังไม่ได้รับทราบมากนัก ประกอบกับข่าวการศึกษายังไม่เป็นที่น่าสนใจหรือมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ จึงขอฝากให้องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับได้ร่วมกันคิดวิธีการนำเสนอข่าวสารให้มีความน่าสนใจและให้มีการเผยแพร่ความก้าวหน้าการดำเนินงานหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้สังคมได้รับทราบมากที่สุด โดยใช้งบประมาณด้วยความประหยัดคุ้มค่า และดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจ้างจัดงาน (Organizer) อย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดให้มีผู้รับผิดชอบติดตามข่าวสารของแต่ละหน่วยงานในทุกช่องทางการสื่อสารทุกวัน หากพบว่ามีข่าวเชิงลบ ขอให้ผู้บริหารหน่วยงานนั้นๆ ได้ชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบ ในกรณีข่าวมีความคาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง ก็ควรแก้ไขและชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ขอให้คณะทำงานประชาสัมพันธ์ช่วยติดตามและชี้แจงในประเด็นต่างๆ ด้วย
  • การทุจริตคอร์รัปชัน ขณะนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต จึงขอย้ำเตือนทุกหน่วยงานให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบ มีความโปร่งใส เพราะขณะนี้ยังพบว่ามีข่าวการทุจริต หากมีหลักฐานหรือจับได้ จะดำเนินการทันที
  • การแต่งกายของข้าราชการ ได้เชิญชวนให้ผู้บริหารและข้าราชการแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการอย่างถูกต้องเรียบร้อยทุกวันจันทร์ โดยเฉพาะผู้บริหารควรจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะเครื่องแบบข้าราชการถือเป็นความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการทุกคน

ผลการประชุม "ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี" ได้สรุปเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง

กับแต่ละองค์กรหลัก ดังนี้

1. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)

  • แนวทางการจัดทำหลักสูตรบทบาทหญิงชาย

นายเชิดศักดิ์ ศรีศักดิ์วิชัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สป. กล่าวในที่ประชุมว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ให้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรบทบาทหญิงชายร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำหลักสูตรบทบาทหญิงชาย กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำหลักสูตรความเสมอภาคหญิงชาย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ซึ่งได้มีข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะสั้น : การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูผู้สอนและการจัดทำคู่มือเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเสมอภาคหญิงชาย ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสและมีพื้นที่เล่นกีฬาในสถานศึกษามากขึ้น

ระยะกลาง : การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เขียนตำราเรียน คณะกรรมการพิจารณาอนุญาต ตลอดจนผู้มีอำนาจในการอนุมัติตำราเรียน เพื่อให้เห็นความสำคัญของประเด็นความเสมอภาคหญิงชาย โดยอาจจัดให้มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับความเสมอภาคหญิงชายในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

ระยะยาว : ปรับหลักสูตรการสอนอาชีวศึกษาเกี่ยวกับสาขาวิชาช่าง โดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าเรียนมากขึ้น และการจัดทำหลักสูตรเฉพาะเกี่ยวกับความเสมอภาคหญิงชายในระดับอุดมศึกษา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบทุกหน่วยงานพิจารณารับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว และให้รวบรวมเพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบต่อไป

  • การรายงานโครงการที่มีการจัดจ้างเอกชนรับจัดงาน (Organizer)

ที่ประชุมรับทราบการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการรายงานโครงการที่มีการจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจัดงาน งานโฆษณา และงานประชาสัมพันธ์ ที่มีวงเงินจัดจ้างตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะต้องมีการรายงานพร้อมสำเนาเอกสารการขออนุมัติหลักการจัดจ้างและร่างขอบเขตงาน (TOR) ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (ค.ต.ร.) ทราบก่อนดำเนินการจัดจ้างล่วงหน้า 15 วัน หากไม่ได้รับการทักท้วงให้ดำเนินการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานตามภารกิจของส่วนราชการ โดยคำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการออกประกาศกระทรวงในลักษณะเดียวกัน โดยกำหนดให้การจัดงานที่มีวงเงินงบประมาณมากกว่า 1 ล้านบาท จะต้องเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา

2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

  • การปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

ที่ประชุมรับทราบการเตรียมปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่ง สพฐ. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรเดิม หลักสูตรต่างประเทศ แนวโน้มการจัดการศึกษาในอนาคต ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค เพื่อที่จะนำมากำหนดทิศทางหลักสูตร และยกร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่

จากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม ก่อนที่จะนำหลักสูตรใหม่ไปทดลองนำร่องเป็นเวลาประมาณ 1 ปี มีการประเมินผลตามวัตถุประสงค์ และนำมาปรับปรุงขั้นสุดท้ายก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้จริง คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงกลางปี 2560

นอกจากนี้ สพฐ.จะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฎิรูปหลักสูตรระดับชาติ และคณะอนุกรรมการย่อย เพื่อดำเนินการยกร่างหลักสูตรดังกล่าวแล้ว

  • แผนยุทธศาสตร์โครงการจัดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสถานศึกษา

ที่ประชุมรับทราบการรายงานการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจกรรมของรัฐ พ.ศ.2558-2562 ซึ่ง สพฐ.นำเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยมีแผนยุทธศาสตร์ฯ ใน 4 กิจกรรม ที่ตรงหลักเกณฑ์ ได้แก่

1) กิจกรรมพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 9 โครงการ ซึ่งมีโครงการจัดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานทดแทนในสถานศึกษาของ สพฐ. รวม 20,000 โรงเรียน โดยให้เอกชนร่วมลงทุนวงเงินงบประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของสถานศึกษา ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีงบประมาณ 2559 สพฐ.ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อศึกษาแนวทางการลดค่าไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนในสถานศึกษานำร่อง 50 แห่งที่มีนักเรียนประจำ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น

2) กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวม 5 โครงการ

3) กิจกรรมพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ

4) กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข รวม 2 โครงการ

  • โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 (พฤศจิกายน 2557 - เมษายน 2558) ดังนี้

1) ภาพความสำเร็จเกี่ยวกับการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การขยายผลการจัดการศึกษาด้วย DLTV ไปสู่โรงเรียนขนาดเล็ก 15,360 แห่งทั่วประเทศ นักเรียนได้มีโอกาสเรียนกับครูต้นทางครบทุกชั้น ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม และทำให้ครูได้มีสื่อที่จะช่วยในการจัดการเรียนการสอน

2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ ในปีการศึกษา 2557 ในโรงเรียนขนาดเล็กพบว่าการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพการเรียนรู้ (NT) นักเรียนชั้น ป.3 มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถ 3 ด้านสูงกว่าปีการศึกษา 2556 โดยมีค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 และในส่วนของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้น ป.6 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยรวมสูงกว่าปีการศึกษา 2556 โดยมีค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 และมีคะแนนเฉลี่ยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.66

3) ผลการติดตามของคณะกรรมการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพฤติกรรมนักเรียน - มีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กับครูต้นทาง ด้านครู - ครูปลายทางมีความเข้าใจบทเรียน มีการวางแผน กำหนดขั้นตอน และเตรียมความพร้อมก่อนการสอน ตลอดจนสามารถทำเครื่องมือวัดผลได้ ด้านผู้บริหารสถานศึกษา - ตระหนักและดำเนินงานตามคู่มือ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน มีการนิเทศ กำกับและติดตาม ตลอดจนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย DLTV ด้านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา - สนับสนุนการดำเนินงาน นิเทศ กำกับและติดตามอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ พบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ อาทิ โรงเรียนบางส่วนไม่ได้รับคู่มือครูพระราชทาน หนังสือเรียนบางส่วนไม่ตรงกับเนื้อหาของครูต้นทาง ปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า ครูบางส่วนดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง ไม่เข้าใจเนื้อหา นักเรียนกว่าครึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องภาษาไทย

4) ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน และครู ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ DLTV จำนวน 1,097 คน เมื่อวันที่ 2-10 มกราคม 2557 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการมีประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 81.95 ทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดการพัฒนา ในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.61 และร้อยละ 78.85 มีความพึงพอใจต่อโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้ ครูพระราชทานสัญญาณจากฟ้า” ในระดับมาก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก แต่ DLTV ก็เป็นเพียงเครื่องมือและเป็นสื่อเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือครูปลายทาง ที่จะต้องให้ความใส่ใจสนใจในการอ่านคู่มือ วางแผน/เตรียมจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดีด้วย จึงจะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินโครงการให้สังคมได้รับทราบในวงกว้างมากขึ้น

3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

  • การสอนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร (สอศ.-สพฐ.)

ที่ประชุมรับทราบแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการจับคู่เรียนร่วมระหว่างสถานศึกษา สอศ.นำร่อง 8 แห่ง เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาชีพในโรงเรียน สพฐ. 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และตาก โดยอิงรูปแบบทวิศึกษา มีชั่วโมงการฝึกงานอย่างน้อย 1 ภาคเรียน และมีการจัดทำห้องปฏิบัติการ (Shop) สาขาวิชาที่โดดเด่นที่บริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมศึกษา

จังหวัดเชียงใหม่ : ซึ่งมีแผนจัดการเรียนการสอนวิชาสามัญในช่วง 10 สัปดาห์แรก และ 10 สัปดาห์ที่เหลือสอนวิชาชีพใน 5 สาขาวิชา มีนักเรียนจำนวน 122 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ในอนาคตควรให้มีการสอนในสาขาวิชาที่มีความจำเป็นและตามความต้องการของพื้นที่ และเป็นสาขาที่มีความสัมพันธ์กับความพร้อมของสถานศึกษา สอศ. ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร สาขาวิชา อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ

ซึ่งการจัดการศึกษาลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว แม้จะเพิ่งเริ่มดำเนินการในประเทศไทย หากดำเนินการได้ดีและนักเรียนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะขยายสาขาวิชาและขยายพื้นที่ในวงกว้างมากขึ้น เพราะเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำ

  • โครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (สอศ.-กศน.)

ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายของสำนักงาน กศน. ว่าขณะนี้มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 700 คน และสำนักงาน กศน. ได้ดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษานำร่องจำนวน 25 แห่งใน 23 จังหวัดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เพื่อจัดการเรียนการสอนตามโครงการดังกล่าว โดยได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษา สอศ. เพื่อวางแผนการเรียน จัดการศึกษา ตลอดจนการติดตามประเมินผล

การจัดการเรียนการสอน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) กศน.จัดสอนวิชาสามัญ ด้วยวิธีการพบกลุ่มหรือวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี 2) สอศ.จัดสอนหมวดทักษะวิชาชีพ โดยวิธีการเรียนแบบชั้นเรียน ซึ่งจะใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรรวม 3 ปี โดยมีสาขาที่เปิดสอน 10 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการโรงแรม สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาการท่องเที่ยว สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง และสาขาวิชาช่างก่อสร้าง

ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สอศ. เกี่ยวกับแนวทางการเทียบโอนผลการเรียน การใช้งบประมาณ การบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งเตรียมการปรับเวลาเรียนภาคค่ำด้วย

นวรัตน์ รามสูต และบัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน

นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ

16/7/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ