พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๕๘ ได้กำหนดมาตรฐานหอพักเอกชนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ๕ ด้าน คือ ๑)ด้านมาตรฐานห้องพัก ๒)ด้านมาตรฐานพื้นที่บริการและการอำนวยความสะดวก ๓)ด้านมาตรฐานด้านโครงสร้างและความปลอดภัยของอาคารหอพัก ๔)ด้านมาตรฐานการจัดระเบียบบริการ และ ๕)ด้านมาตรฐานระบบส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อใช้ในการควบคุมดูแลการดำเนินกิจการหอพักเอกชนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพนักเรียน นักศึกษา ที่พักอาศัยในหอพัก ซึ่งผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชน สถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันเป็นหลักในการดำเนินกิจการหอพัก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งจัดให้หอพักเป็น"สถานที่ที่เอื้อต่อการศึกษาและพักอาศัย”โดยเน้นความสำคัญในการคุ้มครองสวัสดิภาพนักเรียน นักศึกษาในหอพัก คือ ๑) การปฏิบัติตามกฎหมาย ๒) ความปลอดภัย ๓) สุขอนามัย ๔) การให้บริการ และ ๕) การจัดการและการดูแลเอาใจใส่ผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๕๘ มีสาระสำคัญที่สุด คือ มีเจตนารมณ์เพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพนักเรียน นักศึกษาที่พักอาศัยในหอพัก ให้ได้รับความปลอดภัยและได้เรียนหนังสือ มีการแยกประเภทหอพักหญิงและหอพักชาย โดย พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๕๘ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ นี้ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยดูแล ปกป้อง คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ที่พักอาศัยอยู่ในหอพักได้เป็นอย่างดี
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหอพักได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ จังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนหอพัก ปี ๒๕๕๘ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีดังนี้ ๑)จังหวัดที่มีหอพัก มีจำนวน ๗๐ จังหวัด รวมทั้งสิ้น ๑๓,๙๒๓ หอพัก แบ่งเป็นหอพักที่ต่อทะเบียน จำนวน ๑๑,๔๘๑ หอพัก และหอพักที่ไม่ได้ต่อทะเบียน จำนวน ๒,๔๔๒ หอพัก ๒)กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น ๙๕๖ หอพัก แบ่งเป็นหอพักที่ต่อทะเบียน จำนวน ๔๒๖ หอพัก และหอพักที่ไม่ได้ต่อทะเบียน จำนวน ๕๓๐ หอพัก (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๙ มิ.ย.๕๘) ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพและพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน จึงต้องดูแลให้เด็กและเยาวชน ที่พักอาศัยในหอพักได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเหมือนกับอยู่กับครอบครัว ดังนั้นหอพักจึงต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
"ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก และตรวจเยี่ยมหอพักโดยรอบมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อส่งเสริมดูแลสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนที่พักอาศัย ในหอพัก เพราะหอพักเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเป็นสถานที่ที่สำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ และพัฒนาบุคลิกภาพของนิสิต นักศึกษาให้สามารถ ปรับใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข และเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการศึกษาและเสริมสร้างพัฒนา นิสิต นักศึกษา ที่พักในหอพักให้สำเร็จการศึกษาและเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th