“เกาะยาวน้อย” ความสำเร็จการบริหารจัดการขยะชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 14:50 —สำนักโฆษก

(7-8 กรกฎาคม 2558) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคใต้ (ศวภ.3) นำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ สถาบันการศึกษาจากจังหวัดสตูล สงขลา นครศรีธรรมราช เดินทางศึกษาดูงานโครงการจัดการขยะแบบเชิงกลและชีวภาพ (MBT) โดยชุมชน ขนาด 5 ตัน/วัน บนพื้นที่ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีการลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการ 3 ฝ่าย (สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย) เมื่อปีงบประมาณ 2546

นางสาววิวา อุปมา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย เปิดเผยว่า กว่าจะได้นำเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนมาใช้บนเกาะยาวน้อยได้ ต้องอาศัยความพยายามมองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากว่า 5 ปี และนับว่าโชคดีเมื่อปี 2546 ได้มีโอกาสเข้าร่วมเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่ ศวภ.3 จัดขึ้นในจังหวัดพังงา โดยมีโอกาสได้ฟังวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะชุมชนแบบเชิงกลและชีวภาพ (MBT) ซึ่งเห็นว่ามีความเหมาะสมกับพื้นที่เกาะยาวน้อย จากนั้นผู้นำชุมชนพยายามผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดทีมเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการที่สำเร็จ เขียนโครงการเสนอไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดหางบประมาณบางส่วนมาร่วมสมทบ เตรียมหาพื้นที่ก่อสร้างและระบบไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ประชุมประชาพิจารณ์สร้างความรับรู้และเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ จนทุกอย่างลงตัว และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้จากโครงการคลินิกเทคโนโลยี

ปัจจุบันองค์การบริหารตำบลเกาะยาวน้อยสามารถบริหารจัดการขยะในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง มีระบบจัดเก็บที่ถูกต้อง ทั้งชุมชนและผู้ประกอบการพร้อมใจและยินดีจ่ายค่าจัดเก็บขยะมูลฝอยเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ นางสาววิวา อุปมา ยังยืนยันอีกว่า ณ ขณะนี้ สามารถนำขยะมาผลิตเป็นปุ๋ยขายเกษตรกรชาวสวนยาง และสวนปาล์มในพื้นที่ทำให้มีรายได้เป็นหลักแสน ทั้งนี้ อบต.เกาะยาวน้อยยังมองไปถึงอนาคตซึ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจะทำให้มีขยะเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ได้ปรึกษากับ มทส.เพื่อกำหนดแผนงานและศึกษาข้อมูลจัดหาแหล่งงบประมาณ เพื่อเสนอโครงการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจัดการขยะประเภทขวดแก้วและพลาสติกให้สามารถผลิตเป็นน้ำมันเพื่อส่งขายในโรงงานอุตสาหกรรมหรือใช้ประโยชน์อื่นได้ ต่อไป

พื้นที่เกาะยาวน้อย ในวันนี้กลายเป็นชุมชนต้นแบบของความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้พัฒนาพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รักษาสมดุลระหว่างสภาพแวดล้อมและแหล่งท้องเที่ยวให้มีความยั่งยืน สร้างจิตสำนึกชุมชนโดยนำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ภาคใต้ (ศวภ.3) ในฐานะหน่วยประสานงานกระทรวงระดับพื้นที่จึงได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนประสบผลสำเร็จได้ นั้นคือ ความเข้าใจและความสามัคคีของคนในชุมชน ที่ต้องตระหนักและเห็นร่วมกันที่จะพร้อมใจพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา สามารถทำได้สำเร็จ

ในวันเดียวกัน สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ดูและโครงการคลินิกเทคโนโลยี และสนับสนุนงบประมาณในโครงการฯ ดังกล่าว ได้นำผู้เชี่ยวชาญในฐานะกรรมการประเมินผลโครงการ เดินทางลงพื้นที่เกาะยาวน้อย นำทีมโดยมีนายณรงค์ รัตนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งผลการประเมินของคณะกรรมการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับผลสำเร็จของโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่เกาะยาวน้อย เป็นการสนับสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่พื้นที่และชุมชน เมื่อชุมชนผู้รับเทคโนโลยีสามารถใช้ประโยชน์ ได้ดีก็นับเป็นความสำเร็จของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะผู้สนับสนุนหรือเชื่อมโยง ในโอกาสเดียวกัน นายณรงค์ รัตนะ ได้กล่าวกับผู้แทนท้องถิ่นที่เดินทางมาร่วมศึกษาดูงานว่า อย่ามองเฉพาะความต้องการของชุมชน งบประมาณ และตัวเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องศึกษาความเหมาะสมสภาพแวดล้อมพื้นที่ให้ละเอียด ปัจจัยที่จะเอื้อหรือไม่นั้นแต่ละพื้นที่อาจมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป และที่สำคัญ คือ ชุมชนต้องเสียสละ เข้มแข็งและคิดไปด้วยกันจึงจะได้มาซึ่งความสำเร็จในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่สมบูรณ์

ข่าวและภาพโดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ