ดร.จริยา บัวเจริญ นักมาตรวิทยา ห้องปฏิบัติการพื้นผิว (Surface Texture Laboratory) ฝ่ายมาตรวิทยามิติ ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันมาตรวิทยาในการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างประเทศในครั้งนี้ กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทน 1 ใน 3 ประเทศของทวีปเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศไทย, สิงค์โปร์ และ ไต้หวัน โดยในการวัดครั้งนี้นับว่าเป็นการท้าทาย และพิสูจน์ความสามารถอย่างมากเพราะการวัดครั้งนี้มีชิ้นงาน Standard ซึ่งเราไม่เคยวัด และต้องเขียนโปรแกรมสำหรับคำนวณ วิเคราะห์ขึ้นมาเอง และต้องมั่นใจว่าเครืองมือที่ใช้วัดมีความถูกต้องทุกส่วนอย่างสมบูรณ์ สุดท้ายผลการวัดที่ออกมานั้นก็ทำเราให้มั่นใจในศักยภาพของเราว่ามีมาตรฐานเพียงพอ และโดยภาพรวมก็จะทำให้เกิดผลดีและเกิดประโยชน์ต่อวงการมาตรวิทยาไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะในการจะเป็นตัวแทนได้นั้น นอกจากจะต้องมีผลงานด้านการวัดที่ดีอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องมีความพร้อมในระบบการรับรองคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ส่วนบุคลากรต้องมีทั้งประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ สำหรับการเปรียบเทียบการวัดระหว่างประเทศนั้นประมาณ 10 ปีจึงจะมีการจัดกิจกรรมการวัดเกิดขึ้น โอกาสเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศไทยได้ทำสำเร็จ โดยมีการวัดอยู่ในเกณฑ์ดีมากได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เป็นการปูทางในการขยายขอบเขตศักยภาพความสามารถทางการสอบเทียบและการวัด (CMC) ซึ่งได้ประกาศไว้กับในเว็บไซต์ของสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ประเทศฝรั่งเศส”
นอกจากนี้ ดร. จริยาได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการวัดความหยาบพร้อมอธิบายขั้นตอนการวัดว่า “ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการวัดความหยาบ เช่น กระบอกสูบที่ต้องใช้น้ำมันเป็นตัวหล่อลื่นและผิวจะต้องมีความหยาบเพื่อให้น้ำมันหล่อลื่นสามารถแทรกซึมทำให้เกิดประสิทธิภาพในการหล่อลื่น ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ หรือแม้แต่อุปกรณ์มอเตอร์ที่ติดตั้งไว้ในเครื่องบิน ซึ่งต้องมีความถูกต้อง และได้รับการ การันตีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายความปลอดภัยอากาศยาน ดังนั้นในการวัดความหยาบของชิ้นงานจึงต้องมีความเที่ยงตรงสูง ได้มาตรฐาน และสามารถสอบกลับได้ โดยวัดย้อนมาถึงมาตรฐานการวัดสูงสุดของประเทศที่เราเรียกว่า มาตรฐานการวัดปฐมภูมิ ที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของเรา ซึ่งมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร, เครื่องมือ และเทคโนโลยีการวัด และเราก็มีความพร้อมที่จะขยายขอบเขตองค์ความรู้นี้ให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
ผู้เขียนข่าว/ผู้ประสานงาน นายประสิทธิ์ บุบผาวรรณา /นางสาววัชรีพร กลิ่นขจร
เบอร์โทรศัพท์ 02 577 5100 ต่อ 4226 -7 เบอร์แฟกซ์ 02 577 2823 e-mail: pr@nimt.or.th
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th