นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนช.สั่งการเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำ ดูแลน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค-ให้ส่วนราชการลดการใช้น้ำลง 10%

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2015 16:40 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/58 กำชับแก้ปัญหาน้ำตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 58-69 สั่งการเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำ-ดูแลน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ให้ส่วนราชการลดการใช้น้ำลง 10% พร้อมให้รายงานผลการใช้น้ำเพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชน-ภาคเกษตรกรรม

วันนี้ (22 ก.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ครั้งที่ 1/2558 โดยมีหม่อมรางวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุม กนช. วันนี้มีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในช่วงฝนแล้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้แก้ไขปัญหาโดยนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี พ.ศ.2558-2569 ที่พลเอก ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้ส่งมอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ รวม 6 เรื่องให้ กนช. ไปขับเคลื่อนต่อให้สมบูรณ์ โดยแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ แบ่งการดำเนินงาน 3 ระยะคือ เร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ได้มีการดำเนินงานที่คืบหน้ารวม 12 กิจกรรมประกอบด้วย ประปาหมู่บ้าน ประปาโรงเรียน/ชุมชน แหล่งน้ำในเขตชลประทาน แหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ขุดสระน้ำในไร่นา พัฒนาแหล่งน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง การขุดลอกลำน้ำสายหลัก การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การฟื้นฟูป่า การทำพื้นที่ป้องกันและลดการพังทลาย

นายจตุพร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยขอให้ฝ่ายเลขานุการ กนช. เสนอ 4 แนวทางให้การประปานครหลวงและกรมชลประทานไปศึกษาคือ 1. การนำน้ำจากฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อแทนการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา 2. การตัดน้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปที่คลองสำแล ที่จะสามารถช่วยลดน้ำที่จะผลักดันระบบนิเวศได้พอสมควร ซึ่งจะต้องมีการศึกษาว่าจะส่งผลกระทบเรื่องน้ำเค็มหรือไม่ 3. การหาแหล่งน้ำต้นทุนมาเพิ่มให้การประปานครหลวง ที่บริเวณจังหวัดนครนายก ซึ่งเสนอโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร (องค์การมหาชน) 4. น้ำที่อยู่ก้นอ่างของกรมชลประทานในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่ในปัจจุบันมีน้ำที่ก้นอ่างของทั้งสองเขื่อนรวมกันที่ 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้ศึกษาการใช้น้ำ Dead Storage ของเขื่อนว่าจะสามารถนำน้ำมาใช้ได้หรือไม่ เพื่อการสร้างศักยภาพให้กับน้ำภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ได้เสนอข้อมูลการใช้น้ำของการประปานครหลวงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่แบ่งเป็นสองส่วนใหญ่คือ 1. ภาคครัวเรือน 49 เปอร์เซ็นต์ 2. ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและภาคราชการ 51 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อแยกเฉพาะการใช้น้ำของภาคราชการ จะอยู่ที่ 19 เปอร์เซ็นต์ ตนจึงได้เสนอที่ประชุมว่า ภาคราชการซึ่งไม่รวมส่วนราชการที่ต้องให้บริการประชาชน เช่น โรงพยาบาล ควรจะลดการใช้น้ำประปาเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับภาคประชาชนและภาคเกษตรกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบสั่งการให้ส่วนราชการในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศได้ลดการใช้น้ำลง 10 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อประหยัดการใช้น้ำและให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีการรายงานการลดปริมาณใช้น้ำให้หัวหน้าส่วนราชการรับทราบ ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการได้สำรวจระบบประปาของส่วนราชการด้วยว่ามีจุดอ่อนตรงไหนหรือไม่อย่างไร

พร้อมกันนี้ กนช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงานรวม 2 คณะคือ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จะดูอุปสงค์-อุปทานการใช้น้ำของทุกภาคส่วน 2. อนุกรรมการประเมินและติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ