9 กรกฎาคม 2558 – ปทุมธานี/ เยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศอีกครั้ง คว้ารางวัลสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์และรางวัลที่ 1 ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ด้วยผลงาน “การพัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศจากฟองอากาศโดยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ” พร้อมกันนี้ ทีมม้ามืดจากโรงเรียนพิษณุโลกฯ ยังโชว์ผลงาน “เครื่องล้างแอร์อัตโนมัติ” ซิวแชมป์ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ในเวที “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 1” ซึ่งมีเยาวชนจาก 7 ประเทศอาเซียนร่วมชิงชัย ในระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 58 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี
ในการประกวดดังกล่าว มีประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมส่งเยาวชนและโครงงานมาเข้าร่วมประกวดถึง 7 ใน 10 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาวและไทย รวม 39ทีม มีเยาวชนและครูอาจารย์เข้าร่วมกว่า 110 คน โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ทำการประกวดกันใน 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และนวัตกรรรมสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ยังมีรางวัลยอดเยี่ยม ที่คัดเลือกจากสุดยอดโครงงานฯ ที่โดดเด่นที่สุดใน 3 สาขา ซึ่งถือเป็นที่สุดของรางวัลในเวทีนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีประกาศผล“การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 1” (The First ASEAN Student Science Project Competition) ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งการประกวดดำเนินการคัดเลือกมาตั้งแต่ 6 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา เวทีจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของอาเซียน โดยการริ่เริ่มของประเทศไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนในกลุ่มอาเซียนได้มีเวทีแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เทียบเท่างานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลก
ผลการประกวดปรากฏว่า รุ่นมัธยมศึกษาตอนต้น สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ รางวัลที่ 1 ตกเป็นของเยาวชนฟิลิปปินส์ จากผลงาน “การทำให้น้ำไม่เกาะแผ่นฟิล์มทองแดงด้วยการเลียนแบบใบบัว” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เยาวชนจากฟิลิปปินส์เช่นกัน คว้าที่ 1 ไปได้ด้วยผลงาน “การศึกษาภาวะการตายของเซลล์สมองเมื่อขาดออกซิเจน โดยใช้สารสกัดจากกกระดองปลาหมึกในการลดอัตราภาวะเสี่ยงในการเสียชีวิต” สาขานวัตกรรมสร้างสรรค์ ผู้ชนะคือเยาวชนไทยจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก จากผลงาน “เครื่องล้างแอร์อัตโนมัติ” โดยมีสมาชิกในทีมคือ ด.ช. รังสิมันต์ กุลเพชรจิรา และ ด.ช. ธีรภัทร สนองญาติ รุ่นมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายกฤต กรวยกิตานนท์ และนายบุณยกร อัศวนิเวศน์ เป็นสมาชิกในทีม คว้าที่ 1 ไปได้ด้วยผลงาน “การพัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศจากฟองอากาศ โดยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่ 1 เป็นของเยาวชนจากสิงคโปร์ จากผลงาน “การใช้ความร้อนร่วมกับสารเคมีความเข้มข้นต่ำเพื่อการยืดอายุผักผลไม้” สาขานวัตกรรมสร้างสรรค์ เยาวชนจากสิงคโปร์เช่นกัน สามารถชนะทีมอื่นไปด้วยผลงานการใช้สารเร่งอนุภาคนาโนเพื่อการแตกตัวของออกซิเจนในการทำลายเซลล์มะเร็ง
ส่วนรางวัลยอดเยี่ยมโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นที่สุดของรางวัลในเวทีนี้ รุ่นมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้ที่คว้าไปได้คือ ทีมเยาวชนฟิลิปปินส์ จากผลงาน “การศึกษาภาวะการตายของเซลล์สมองเมื่อขาดออกซิเจน โดยใช้สารสกัดจากกรกะดองปลาหมึกในการลดอัตราภาวะเสี่ยงในการเสียชีวิต” ส่วนรุ่นมัธยมศึกษาตอนปลาย เยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เจ้าของเดียวกับรางวัลที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สามารถนำผลงาน “การพัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศจากฟองอากาศ โดยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ” กวาดคะแนนจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายประเทศ ไปได้อย่างท่วมท้นจนเฉือนชนะทีมอื่นไปอย่างขาดลอย
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ อพวช. ในฐานะหน่วยงานผู้จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รางวัลเป็นเพียงแรงจูงใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่เยาวชนทุกคนรวมถึงครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้มากกว่านั้น คือมิตรภาพระหว่างสมาชิกอาเซียน การเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย ประสบการณ์การแข่งขันระดับนานาชาติ แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดจากความสร้างสรรค์ ซึ่งในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนให้ภูมิภาคอาเซียนของเราให้เข้มแข็งต่อไป”
ด้าน นายบุณยกร อัศวนิเวศน์ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กล่าวว่า ทางทีมรู้สึกดีใจมากและไม่คาดฝันว่าจะได้รับทั้งรางวัลชนะเลิศและรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ภูมิใจมากที่ผลงานเข้าตากรรมการ เพราะพวกเราได้ทำการศึกษา ทดลอง และฝึกฝนกันมาอย่างเต็มที่ ซึ่งโครงการงานที่นำมาเข้าประกวดครั้งนี้จะเป็นการศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงปริมาตรและลักษณะการเคลื่อนที่ของฟองอากาศเพื่อการพัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศโดยใช้กล้องของอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเลต โดยหลังจากนี้ทางทีมจะนำไปพัฒนาต่อยอดให้แอปพลิเคชั่นนี้สามารถใช้งานได้จริงและง่ายในการเข้าถึง
ทั้งนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลอื่น ๆ ในแต่ละประเภท ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นของทีมจากโรงเรียนขาณุวิทยา จ.กำแพงเพชร จากผลงาน “เกมพัฒนาทักษะทางด้านตรรกศาสตร์และการคิดที่เป็นระบบ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทีมจากโรงเรียนจุฬาภรณ์วิทยาลัย จ.ปทุมธานี สามารถคว้าไปได้ด้วยผลงาน “การศึกษาวงจรชีวิตและสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงหนอนนก” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง สาขานวัตกรรมสร้างสรรค์ เป็นของทีมโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ที่นำผลงาน “การดัดแปลงโครงสร้างคาร์บอนโพรงจากแบคทีเรียลเซลลูโลสเป็นโพลิเมอร์อิเล็คโตรสเมมเบรน (Polymer electrode membrane)” มาสร้างชื่อให้กับเยาวชนไทยได้อีกหนึ่งรางวัล เฟ
นางสาวสุตานันท์ อาวจำปา
สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด กองประชาสัมพันธ์
โทร. 0 2577 9999 ต่อ 2107 มือถือ 085 772 9955 โทรสาร 0 2577 9911
สำนักงานใหญ่ : เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 0 2577 9999 โทรสาร 0 2577 9900, 0 2577 9911 www.nsm.or.th
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th