หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536 ให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสมัครเข้าเป็นสมาชิก World skills ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 มีสมาชิกประมาณ 70 ประเทศทั่วโลก องค์กร World skills ได้จัดการแข่งขัน World skills ขึ้นทุก ๆ 2 ปี ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 43 ณ เมืองเซาเปาโล สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลระหว่างวันที่ 11 - 16 สิงหาคม 2558 มีเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 23 คน ใน 21 สาขา ได้แก่ 1. สาขาออกแบบและเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์(Mechanical Engineering Design) 2. สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม(Welding) 3. สาขาเว็บดีไซน์(Web Design) 4. สาขากราฟิกดีไซน์ (Graphic Design Technology) 5. สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร(Electrical Installations) 6. สาขาเทคโนโลยียานยนต์ (Automobile Technology) 7. สาขาปูกระเบื้อง (Wall and Floor Tiling) 8. สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น (Refrigeration and Air Conditioning) 9. สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี (Fashion Technology) 10. สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม (Restaurant Service) 11. สาขาแต่งผม (Hairdressing) 12. สาขาประกอบอาหาร (Cooking) 13. สาขาท่อและสุขภัณฑ์ (Plumbing and Heating) 14. สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) 15. สาขาเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) 16. สาขาเสริมความงาม (Beauty Therapy) 17. สาขางานกัดอัติโนมัติ (CNC Milling) 18. สาขางานกลึงอัติโนมัติ (CNC Turning) 19. สาขาโพลีแมคคานิกส์และระบบอัตโนมัติ (Polymechanics/Automation) 20. สาขาสร้างและประกอบแม่พิมพ์ (Plastic Die Engineering) และ 21. สาขาออกแบบโมเดล(Prototype Modelling) ในอดีตเยาวชนไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาช่างกลึง CNC สาขาสร้างและประกอบแม่พิมพ์ และสาขาเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ความสามารถของช่างฝีมือไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ตลอดจนการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และเพื่อเป็นการจูงใจและสนับสนุนให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานและอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อีกทางหนึ่ง เป็นการยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การศึกษาเล่าเรียนด้านอาชีวศึกษาเป็นพื้นฐานในการสร้างบุคลากร การทำงานด้านฝีมือ ซึ่งต้องมีทั้งองค์ความรู้และทักษะเรียกว่าต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อพร้อมที่จะสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติอันโดดเด่น ในปัจจุบันธุรกิจกระบวนการอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ ล้วนต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือ การพัฒนาฝีมือด้านทักษะอาชีพจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบบกระบวนการผลิตและเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อความก้าวหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ ที่สำคัญลดการนำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ความเป็นมืออาชีพในการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ฝีมือให้ได้รับการยอมรับ ในวันนี้ทุกท่านที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เสมือนเป็นทูตของประเทศไทยในการแสดงศักยภาพให้นานาประเทศได้เห็น ขอให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการแข่งขันมาให้มากที่สุด เพื่อพิสูจน์ฝีมือ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ กับเพื่อน ๆ เยาวชนจากต่างประเทศ ที่สำคัญคือเรื่องภาษา อยากให้ทุกคนฝึกด้านภาษา เพื่อยกระดับฝีมือของตนเองให้สูงขึ้น พร้อมทั้งยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างชาติให้มีการพัฒนาด้านฝีมือแรงงานให้มีความเข้มแข็งต่อไป
ตอนท้ายของการให้โอวาทนายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ตัวแทนประเทศไทยและคณะเดินทางทุกคน ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศไทย ถึงแม้จะไม่ชนะก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้มิตรภาพ ประสบการณ์กลับมา และขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th