กระทรวงยุติธรรมมีการบูรณาการการทำงาน ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่องและศูนย์ยุติธรรมชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 312 แห่ง เพื่อรับเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแสของประชาชน ซึ่งมีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 2,278 เรื่อง
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีการบูรณาการการทำงาน ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศแจ้งสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และจัดทำบันทึกการแจ้งสิทธิ ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนคดีอาญาเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทเพื่อนำไปยื่นคำขอรับการช่วยเหลือทางการเงิน โดยให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาแล้ว จำนวน 6,858 ราย แบ่งเป็นผู้เสียหาย 6,769 ราย และจำเลย 89 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 374,623,672.64 บาท
กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนายอำเภอและปลัดอำเภอ เพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และวิธีการปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก่กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,589 คน
สำหรับการให้ทุกกระทรวง เร่งรัดการดำเนินงานสำคัญ ๆ ตามที่ได้สั่งการไปแล้ว อาทิ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
กระทรวงยุติธรรม มีผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
1. การปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม
2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานทางกฎหมายโดยจัดอบรมกฎหมายมหาชนบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลปกครอง วิทยาลัยตำรวจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำความผิดในระบบงานคุมประพฤติและนำความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้
4. การช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรม มีการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดจากประชาชน ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ และการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน
5. การพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางเลือก จัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน (ศยช.) ระดับตำบล พัฒนาการปฏิบัติงานคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลนำร่อง ทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่างกระทรวงยุติธรรมสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย
6. การพัฒนาระบบการบังคับคดีแพ่ง คดีล้มละลาย และการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีและการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อพลักดันทรัพย์สินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
7. การป้องกันการกระทำผิดโดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน/ในเรือนจำ การแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชน และการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
8. การนำมาตรการทางการเงิน ภาษี และการป้องกันการฟอกเงินมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
9. การเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงโดยการออกตรวจพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการตรวจค้นในโรงงานและสถานประกอบการดำเนินการตรวจค้นในเรือนจำ ดำเนินการต่อข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
10. มาตรการการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด การติดตามผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจากการติดยาเสพติด
การแก้ไขปัญหาด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย และไม่เป็นธรรม จำนวน 40 เรื่อง อาทิ
- ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เพิ่มเติม ความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และปรับปรุงนิยาม “ผู้เสียหาย” ที่ไม่รวมถึงผู้ประสบภัยซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรา 124) ที่เพิ่มเติมการแจ้งสิทธิของพนักงานสอบสวนให้แก่ผู้เสียหายรับทราบเมื่อมาร้องทุกข์
- ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน พ.ศ. .... ให้อำนาจรับรองผลการไกล่เกลี่ยให้มีสภาพบังคับใช้โดยผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ความผิดทางอาญาที่ยอมความกันได้ และความผิดลหุโทษได้
- ยกร่าง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ใหม่ แก้กฎกระทรวงซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการและกระบวนการในการแก้กฎกระทรวง 4 เรื่อง (เครื่องพันธนาการ การพักการลงโทษ ชื่อตำแหน่งเจ้าหน้าที่และการทำงานสาธารณะ)
- ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... (ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558)
- ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่..) พ.ศ.... (การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) (คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558)
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ.... มาตรา 309 จัตวา (อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่วาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 (อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา)
- ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ.... (อยู่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม)
- ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ.... (อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวง) เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2558 – 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม ทางเลือกและการมีส่วนร่วมในงานยุติธรรม เตรียมความพร้อมด้านกระบวนการยุติธรรมสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาคุณภาพงานวิจัยและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th