กทพ. จัดเวทีนำเสนอโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 17:29 —สำนักโฆษก

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 เส้นทาง ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

นายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ กทพ. พร้อมด้วย นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเปิดการประชุมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมอินทนิล ชั้น 1 อาคารสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอที่มาและความสำคัญของการศึกษา วัตถุประสงค์ และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา พร้อมนำเสนอร่างแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 เส้นทาง ดังนี้

แนวเส้นทาง A เป็นเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ แนวเส้นทางแบ่งเป็น ระยะที่ 1 มีจุดเริ่มต้นใกล้กับสนามกีฬา 700 ปี แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศใต้ตามแนวคลองชลประทาน สิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบ 2 ด้านใต้ ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ระยะทางประมาณ 9.6 กิโลเมตร ระยะที่ 2 เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากระยะที่ 1 มีจุดเริ่มต้นใกล้กับสนามกีฬา 700 ปี แนวมุ่งไปทางทิศเหนือ บรรจบที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 อำเภอแม่ริม ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร ระยะที่ 3 เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากระยะที่ 2 เริ่มต้นจากจุดสิ้นสุดของถนนวงแหวนรอบ 2 ด้านใต้ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ แนวมุ่งไปทางทิศใต้ สิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 อำเภอหางดง ระยะทางประมาณ 7.1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 25.1 กิโลเมตร

แนวเส้นทาง B เป็นเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางระหว่างทิศตะวันตกและตะวันออก แนวเส้นทางแบ่งเป็น ระยะที่ 1 เชื่อมต่อจากแนวเส้นทาง A บริเวณสนามกีฬา 700 ปี แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สิ้นสุดที่เทศบาลตำบลต้นเปา ระยะทางประมาณ 16.4 กิโลเมตร ระยะที่ 2 เป็นส่วนต่อขยายจากระยะที่ 1 เริ่มต้นจากเขตเทศบาลตำบลต้นเปา สิ้นสุดใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 บริเวณอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 11.2 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 27.6 กิโลเมตร

แนวเส้นทาง C เป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมทิศเหนือและทิศใต้ ฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นของเส้นทางใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมลำพูน แนวเส้นทางมุ่งขึ้นเหนือสิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 ที่อำเภอดอยสะเก็ด รวมระยะทางประมาณ 29.1 กิโลเมตร

แนวเส้นทาง D เป็นเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางระหว่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ มีจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ถนนวงแหวนรอบ 2 ด้านใต้ ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ มุ่งไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่แนวเส้นทาง B ใกล้กับเทศบาลตำบลต้นเปา ระยะทางประมาณ 12.7 กิโลเมตร

แนวเส้นทาง E เป็นเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ มีจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งไปทางทิศใต้ สิ้นสุดที่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3029 ระยะทางประมาณ 16.8 กิโลเมตร

การศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ กทพ. ได้ดำเนินการเพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวในภาพรวม รวมทั้งช่วยส่งเสริม พัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงอีกด้วย

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ