วันนี้ (5 สิงหาคม 2558) เวลา 13.50 น. ภายหลังร่วมงานวันพระราชทานกำเนิดนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบรอบ 128 ปี ที่ จังหวัดนครนายก และลงพื้นที่ตรวจปริมาณน้ำ ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และตรวจสภาพน้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงถึงการไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนดังกล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ลงไปดูพื้นที่จริงๆ ซึ่งจริงแล้วภารกิจช่วงเช้าไปร่วมงานวันพระราชทานกำเนิดนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบรอบ 128 ปี เพียงกำหนดการเดียว แต่ก็เปลี่ยนใจ เนื่องจากคิดมานานแล้วต้องการไปเยี่ยมประชาชนต่างจังหวัดบ้าง จึงได้ตัดสินใจก่อนขึ้นเครื่องกลับ โดยได้ชวน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอก ดาวพงษ์ รัตนสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมลงพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นการนำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาเจอกัน วันนี้ป่าทางเหนือที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำใหญ่มีปัญหาถูกทำลายไปหลายล้านไร่ เมื่อมีฝนตกลงมาก็ไม่มีอะไรซึมซับทำให้น้ำลงสู่ดินหมด การจัดเก็บน้ำที่ผ่านมาไม่เพียงพอ เขื่อนก็สร้างไม่ได้อีกแล้ว วันนี้เราแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทางทั้งระบบ ทั้งการทำแก้มลิง ขุดลอกคูคลอง ส่วนปัญหากลางทางคือการจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆ จากเดิมที่ค่อนข้างพอเพียง เมื่อต้นทุนน้ำไม่พอการจ่ายน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาจากธรรมชาติ ดังนั้นต้องมาดูเรื่องการบริหารจัดการ ต่อมาคือปัญหาปลายทางคือประชาชน
“จากการลงพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี ซึ่งประชาชนไม่รู้มาก่อนว่าผมจะไป รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและ ผอ.เขื่อน ผมแจ้งเดี๋ยวนั้นและเติมน้ำมันเครื่องบินไป ก็มีประชาชนมาตอรับจำนวนหนึ่ง เขามีความเข้าใจที่ผมพูดกับเขาว่าเขาเดือดร้อนหรือไม่ ผมอยากถามด้วยปากของผมเอง ไม่ใช่ฟังจากการรายงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเขาก็เข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ผมบอกเขาว่าเราใช้เวลาขณะนี้ในการวางอนาคตให้ลูกหลาน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ นี่เรียกว่าการปฏิรูปเหมือนกันในเรื่องการเกษตร ที่จะต้องใช้พื้นที่และน้ำให้น้อยลงและได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือมากขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า วันนี้โชคดีที่ได้ดูพื้นที่ตั้งแต่ จ.นครนายก ได้เห็นความแตกต่างของพื้นที่ ซึ่งมีน้ำประมาณ 10 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยมาก แต่เขาอยู่ได้เพราะฝนตกมีระบบการระบายในเขื่อนไหลเข้ามากกว่าไหลออก และจากการมองลงมาจากเครื่องบินพบว่า มีแหล่งน้ำธรรมชาติกระจัดกระจายไปทั่ว ซึ่งการเพาะปลูกต้องทำแบบนี้ ต้องช่วยตัวเองบ้างและรัฐก็เข้าไปดูแล ตรงนี้อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ จากนั้นได้บินเลยไปเขื่อนป่าสักฯ ซึ่งมีน้ำ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร วันนี้ได้รับรายงานมีฝนตกมากขึ้น น้ำเข้าเขื่อนวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่ต้องใช้ระบายวันละ 1 ล้าน ฟังแล้วสบายใจ แต่ปัญหาคือเราต้องเผื่อไว้วันข้างหน้า หากฝนตกปกติแล้วเขื่อนนี้รับน้ำได้ประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝนตกในช่วงที่สูงที่สุดนั้นจะมีน้ำประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ตรงนี้จะต้องทำอย่างไรถึงจะเพิ่มการกักเก็บน้ำในเขื่อนนี้ให้ได้ โดยหลังจากคณะบริหารจัดการน้ำไปดูได้วางแผนว่าต้องมีการขยายลักษณะการขุดแก้มลิงในพื้นที่เขื่อนที่ตื้นอยู่เป็นแห่งๆไป ถ้าทำเพิ่มจะกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำในพื้นที่การเกษตรมากกว่าเดิม โดยตนได้สั่งการให้ทุกเขื่อนทำแบบนี้จะทำได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามปัญหาของเราคือการจัดทำอะไรต้องผ่านกระบวนการอีไอเอ อีเอชไอเอ หากจะทำในพื้นที่ชลประทานเดิมก็น่าจะทำได้ วันนี้อะไรที่น่าจะต้องทำให้ได้ก็ต้องหาทางทำให้ได้ ไม่ใช่จะเอาทุกกฎหมายมาทำให้ได้ ถ้าอย่างนี้ถือเป็นการบริหารงานที่ล้มเหลวของข้าราชการด้วย ดังนั้น ต้องเอากฎหมายมาทำแต่ไม่ให้เสียกฎหมายให้ได้ ตนสั่งไปแล้ว วันนี้ภาคอื่น ยกเว้นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝนตก ทำให้ข้าวปลาอาหาร ฟื้นเหมือนเดิม เว้นแต่ที่ปลูกไปก่อนหน้านั้นที่ตาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังสำรวจความเสียหายอยู่ คงต้องรอหน่อย
“ผมเจ็บปวดที่ต้องสั่งให้หยุดการจ่ายน้ำ เพื่อไปเลี้ยงข้าว แต่มันไม่ไหวแล้วก็ต้องไปหาทางชดเชยอย่างอื่น โดยได้เตรียมการไว้แล้วในส่วนเสียหายในรอบที่หนึ่ง คือ 1.ปลูกก่อนที่ประกาศให้มีการชะลอ 2.ปลุกหลังการประกาศ และ 3.ยังไม่ได้ปลูก ดังนั้น จะดูแลทั้งสามประเภทนี้ให้แตกต่างกัน แต่จะไม่เหมาจ่ายแบบเดิม และต้องมีคนรับรอง เวลานี้อยู่ระหว่างการสำรวจ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาหลักการเยียวยา หลักเกณฑ์เดิมมีอยู่แล้วไร่ละ 1 พันกว่าบาท แต่จะจ่ายแค่ไหนอย่างไรก็ไปว่ากันมา รัฐบาลต้องใช้จ่ายอย่าประหยัดและมีประสิทธิภาพ แต่ต้องให้ประชาชนอยู่ได้ ถ้าจะเอาทุกอย่าง จะเอาที่ไหนจ่าย” นายกรัฐมนตรีกล่า
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า มีการบุกรุกที่ดินประมาณ 7-8 ล้านไร่ เราได้คืนมาเฉพาะที่ดิน และป่าที่ทรุดโทรม เราไม่ได้ป่าที่สมบูรณ์กลับมา เราจะทำอย่างไร นี่เป็นภาระนโยบายของเราในการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ฟื้นฟูเขาหัวโล้นโดยเร็ว วันนี้ที่นึกออกคือปลูกพืชโตเร็ว เพื่อให้เป็นร่มเงาไว้ก่อนและทันในฤดูฝนก่อนจะให้พืชอื่นขึ้นได้ ตนคิดและสั่งมาตลอดทาง รัฐมนตรีที่ไปด้วยก็ได้งานกลับไปเยอะ เราต้องใช้วิธีนี้ เพราะงานที่ส่งนกลางที่ทำเนียบรัฐบาลก็มีเยอะ ทั้งปฎิรูป เรื่องรัฐธรรมนูญ ตนก็ดูทุกเรื่องว่าคืบหน้าถึงไหน ซึ่งได้มอบหมายไปหมดแล้ว
“ผมได้บอกกับคนลพบุรีและสระบุรีไปแล้ว ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อคน 70 ล้านคน และคนในอนาคตและนี่คือความคาดหวังของ คสช.และรัฐบาล ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไม่มั่นใจว่าวันหน้าจะดีหรือไม่ดีและจะเป็นอย่างเดิมหรือเปล่า อย่างน้อยเราได้เริ่มไว้ให้ ผมได้คุยกับข้าราชการท้องถิ่นขอเวลาให้ผมได้ทำในช่วงโรดแมปของผมก่อน ซึ่งเขาก็เข้าใจ และเขาก็ดีใจที่ผมไปโดยไม่ได้นัดหมาย ผมไม่อยากให้มีการเกณฑ์คนมารับกันเยอะแยะ เปลืองเปล่าๆซึ่งจะใช้วิธีไปตรวจล่วงหน้าอย่างนี้บ่อยๆในทุกพื้นที่แล้วกันถ้ามีเวลา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับแผนงบประมาณที่จะลงในพื้นที่ มีอยู่แล้ว แต่ขอมากๆก็เป็นห่วงในงบประมาณที่มีอยู่ แต่รู้ทุกคนอยากได้ อย่างการขุดลอกคูคลองที่เห็นจากการลงพื้นที่วันนี้ได้รับคำตอบว่าเพิ่งทำและที่ผ่านมาไม่มีการทำ เพราะไม่มีงบประมาณจากกรมชลประทาน ตนจึงไม่เข้าใจทำไมไม่มีงบประมาณทำฝนสิ่งดีๆเหล่านี้ เอางบไปทำอะไรกันหมด ตนไม่รู้ รัฐบาลนี้กำลังทำ แต่อาจจะช้า เพราะงบประมาณเยอะ โดยการลงพื้นที่สิ่งที่เห็นเป็นเม็ดงานและได้ภาพความร่วมมือคือการเอาชาวบ้านมาช่วยกันขุดลอกเก็บจอกแหน ผักตบ เฮฮากันและมีค่าแรงให้กับพวกเขา ส่วนหนึ่งเอาเงินไปจ้างรถแบ็คโฮ มาขุดลอกคลอง ประชาชนก็มีความสุข วัตถุประสงค์คือ 1.ให้ประชาชนมายได้ในช่วงที่ลำบากอยู่ 2.ให้ประชาชนมาปฏิสัมพันธ์กัน จะได้ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกกันมากนัก และ 3.เป็นการเตรียมรับน้ำในอนาคต
ที่มา: http://www.thaigov.go.th