คณะผู้บริหาร USABC ได้นำคณะผู้แทนภาคเอกชนสหรัฐฯ กว่า 70 คนจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 29 บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี โอกาสนี้ ภาคเอกชนสหรัฐฯยืนยันความมุ่งมั่นพร้อมแสดงเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนในประเทศไทย และร่วมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน ระหว่างไทยและสหรัฐฯ
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทย สู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดยเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ อุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งบริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ Microsoft, Qualcomm และ Seagate ได้กล่าวชมนายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษข้างหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมชั้นนำและสำคัญ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและการศึกษา พร้อมกันนี้ รัฐบาลกำลังผลักดันกฎหมายหลายฉบับ ตลอดจนปรับปรุงร่างกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ
ด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรชีวภาพ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยได้ผลักดันและส่งเสริมการผลิตในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการแปรรูปสินค้าเกษตร อีกทั้งยังได้ส่งเสริมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรกรรมในภูมิภาค
รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเป็นลำดับแรก โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา โดยส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านการใช้อินเตอร์เน็ต ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับครูและนักเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับประชาชนในทุกระดับ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันโครงการที่สำคัญหลายอย่าง อาทิ National Board Band, การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) รวมถึง ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อพัฒนาความเจริญก้าวหน้าและสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ในตอนท้าย ผู้แทนภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจต่างชาติ ตลอดจนยืนยันถึงความต้องการที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย และแสดงความพร้อมที่บริษัทสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพราะเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ และโอกาสที่จะเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ ประกอบด้วย AIG, Brown-Forman, Caterpillar, Chevron, Cigna, Cisco, Citibank, Coca-Cola, ConocoPhillips, Dow Chemical Company, Eli Lilly and Company, Ford Motor Company, General Electric (GE), Google, Guardian Industries, MasterCard, Mead Johnson, Microsoft, Monsanto, Philip Morris, Procter & Gamble, Qualcomm, Seagate, Syngenta, Time Warner, UPS, และ Visa ซึ่งจะได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558 ณ ทำเนียบรัฐบาลด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th