ในการหารือในวันนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงฝ่ายไทย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รองเลขาธิการสภาพัฒน์ และเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เป็นต้น
สำหรับภาคเอกชนสหรัฐฯ คณะผู้บริหาร USABC ได้นำคณะผู้แทนภาคเอกชนสหรัฐฯ กว่า 70 คนจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 29 บริษัท ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน การเงิน โลจิสติกส์ ยานยนต์ การก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ ยา และเวชภัณฑ์ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
ภายหลังการพบปะ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การพบกันในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศ ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สนับสนุนการปฏิรูปประเทศของไทย และต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยในทางเศรษฐกิจ โดยนักธุรกิจสหรัฐฯ ยังคงเห็นว่า ไทยมีศักยภาพโดดเด่นในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ได้แสดงความพร้อมที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนในประเทศไทย และขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจต่างชาติได้ตรงกับความต้องการของเขา โดยยืนยันที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน ระหว่างไทยและสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณ USABC ที่มีส่วนส่งเสริมการลงทุนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทสหรัฐฯ ในประเทศไทย และยินดีที่ปีนี้ครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสำนักงาน USABC ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการค้าไทยกับสหรัฐฯ อยู่อันดับ 1 มาตลอด อย่างไรก็ดีช่วงหลังตกมาอยู่อันดับที่ 2 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้มูลค่าการค้าสหรัฐฯ-ไทย กลับมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้งในอนาคต จึงขอฝากให้USABC และฝ่ายสหรัฐฯ หาแนวทางในเรื่องนี้ต่อไป
โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคธุรกิจสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ และขอให้ภาคธุรกิจเข้าใจว่ารัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อลดความขัดแย้ง และยืนยันที่จะดูแลการค้าการลงทุนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆของทั้งภาครัฐและเอกชน และการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน
ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากการติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยการลดการพึ่งพาการส่งออก มีการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆเพื่อลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าแรงงาน และการลงทุนต่างๆ ที่จะเสรีมากขึ้น รวมถึง เร่งสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและโลก โดยการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ และยินดีที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการที่ ภาคธุรกิจสหรัฐฯ สามารถใช้ประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนได้ อาทิ
1. การที่ไทยเป็นศุนย์กลางหรือ hub ในอาเซียน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งในประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะภายหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 5 เดือนข้างหน้า โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุนและการเชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ เช่น ทางอากาศ ทางบก และทางเรือ
2. รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในหลายๆด้าน เช่น การเตรียมความพร้อมการเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย การปรับโครงสร้างทางภาษี นอกจากนี้ ยังได้มีการปฏิรูปกฎระเบียบที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เช่น พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.ยาสูบ
3. รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ในประเทศไทย อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และการลงทุนของภูมิภาค
4.รัฐบาลพร้อมส่งเสริมนักธุรกิจสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในการขยายความร่วมมือกับภาครัฐในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วน (Public-Private Partnership: PPP) ในด้านต่าง ๆ อาทิ การลงทุนด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านนวัตกรรม
5.ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์ในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้แก่ การเกษตรและสินค้าเกษตร การบริการ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้านสาธารณสุข และอัญมณี ฯลฯ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าภาคธุรกิจนั้นเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย จึงขอให้นักธุรกิจช่วยเป็นเสียงให้กับประเทศไทยในการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในต่างประเทศ
โดยระหว่างการพบปะ นายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้คณะนักธุรกิจแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะในเรื่องที่ภาคธุรกิจเห็นว่า เป็นอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน เพื่อรัฐบาลจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งตัวแทนภาคธุรกิจ ได้แสดงทัศนคติและข้อคิดเห็นต่างๆ ดังนี้
ประธาน USABC (นายอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน) ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี และชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทยที่มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปในด้านต่างๆ การปรับปรุงโครงสร้างภาษี การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และยืนยันถึงความต้องการที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ และโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ในฐานะตัวแทนของนักธุรกิจสหรัฐฯ รับที่จะเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประเทศไทย เพื่อสะท้อนความจริงไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ และหวังที่จะช่วยสะท้อนความคืบหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไปยัง TIP Report ด้วย
สาขาพลังงาน บริษัท Chevron กล่าวขอบคุณที่รัฐบาลให้การดูแลการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างดีมาตลอด และยืนยันว่า จะลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว พร้อมกับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
สาขาการเงิน บัตรเครดิตและ IT บริษัท Mastercard กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจเชื่อมโยงไปสู่การให้บริการด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาสู่การเป็น Digital Economy ซึ่งขอให้รัฐบาลช่วยเพิ่มการสนันสนุนด้านนี้ ให้มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่บริษัทฯ ต้องการเข้าร่วมลงทุนและมอบหมายให้ไปหารือเพิ่มเติมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อไป พร้อมย้ำว่า ต้องการให้ Digital Economy เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) และจะเร่งการประมูล 4G ภายในปีนี้
สาขายาและเวชภัณฑ์ บริษัท GSK กล่าวชื่นชมพรบ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และมาตรการปราบปรามคอรัปชั่น ว่าทำให้ภาคธุรกิจสหรัฐฯมีความมั่นใจต่อการเดินหน้าการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าการสร้าง hub ด้านสุขภาพอย่างครบวงจรในประเทศไทย ที่ครอบคลุมการเป็นฐานการผลิตและฐานความรู้ด้านการแพทย์ ยาและสุขภาพ
อุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท Ford กล่าวถึง ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาด้านทักษะและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ตลอดจน ขอให้สนับสนุนการลงทุนการผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับที่จะนำไปพิจารณา โดยขอให้บริษัทฯ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย เพื่อจะได้พัฒนาควบคู่กันไป
สาขาการเกษตร บริษัท Monsanto ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอยากให้ประเทศไทยเป็น “seed hub” เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งที่เหมาะกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ และจะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพได้โดยตรงและจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีย้ำว่า นอกจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแล้ว ต้องมีราคาที่ไม่แพงเพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงได้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และขอให้มีการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ใช้พื้นในการเพาะปลูกน้อยและใช้น้ำน้อย ซึ่งจะได้ตรงกับความต้องการของไทยมากขึ้น
ภายหลังการหารือ คณะนักธุรกิจสหรัฐฯได้กล่าวแสดงความประทับใจและยืนยันที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยต่อไปเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันในอนาคต
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ ประกอบด้วย AIG, Brown-Forman, Caterpillar, Chevron, Cigna, Cisco, Citibank, Coca-Cola, ConocoPhillips, Dow Chemical Company, Eli Lilly and Company, Ford Motor Company, General Electric (GE), Google, Guardian Industries, MasterCard, Mead Johnson, Microsoft, Monsanto, Philip Morris, Procter & Gamble, Qualcomm, Seagate, Syngenta, Time Warner, UPS, และ Visa
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th