ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการต่อแผนที่นำทางการบูรณาการผลงานวิจัยเครื่องบินทะเลและเสื้อเกราะกันกระสุนสู่การใช้งานจริง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางทะเล และสนับสนุนการท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนให้มีคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ระดับการป้องกันตามมาตรฐานการทดสอบเป็นสากลตรงตามความต้องการของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านความมั่นคง และสนองตอบตามนโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและต่างประเทศ พร้อมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการสร้างตลาดนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐหเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เตรียมพร้อมการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....
ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินแนวทางในการจับคู่ระหว่างความต้องการและนวัตกรรมที่ผลิตในประเทศไทยนำมาสู่การใช้งานจริง เช่น การจัดตลาดนัดนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เครื่องสำอาง และนวัตกรรมทางการแพทย์สาธารณสุข ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักวิจัยพัฒนา ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์การแพทยสาธาณสุขทั้งรัฐและเอกชน ได้พบปะระหว่างกัน โดยจัดขึ้นในวันที่ 18-20 สิงหาคม 2558 ณ เมืองทองธานี รวมทั้งจะมีการจัดมหกรรมนวัตกรรมไทย 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ (วันที่ 27-30 สิงหาคม2558) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา (วันที่ 17-18 กันยายน 2558) และภาคใต้ที่หาดใหญ่ (วันที่ 30-31 ตุลาคม2558) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในการจัดตั้งกองทรัสเงินร่วมลงทุนเพื่อธุรกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Fund of Funds) โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนในกองทุนร่วมลงทุนเพื่อธุรกิจเทคโนโลยี (ในรูปแบบของ Private Equity หรือ Venture Capital) โดยกองทุนดังกล่าวจะไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีอีกต่อหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจเงินร่วมลงทุนไปพร้อมกัน โดยในอนาคตหากกลไกตลาดของธุรกิจร่วมลงทุนภาคเอกชนดำเนินกาต่อไปได้ จะสามารถเป็นเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการต่อแผนที่นำทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้มีการใช้และผลิตควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของยานยนต์ 3 ประเภท คือ รถโดยสารไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยนำร่องตลาด ขสมก. สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ผลิตไทยผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และทยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยมอบหมายกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ ขสมก. จัดซื้อรถ NGV กว่า 3,000 คัน เป็นรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย 500 คัน และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณายกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่มีการผลิตในประเทศ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ข้อมูล:สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th