รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงคมนาคมนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักสำหรับการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ทางหลวงสายหลัก ระบบขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศแล้ว ยังมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งหลักดังกล่าวเข้าสู่พื้นที่ในชนบท ทำให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงบริการด้านการคมนาคมของภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ของประเทศ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการด้านการพัฒนาระบบขนส่ง ซึ่งโครงการถนนดีทั่วไทยของกรมทางหลวงชนบทถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายดังกล่าว
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการถนนดีทั่วไทย เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงชนบทเข้าสู่พื้นที่การเกษตร การท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับโครงการ “ถนนดีทั่วไทย” เป็นโครงการระยะสั้นภายใต้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางถนน เริ่มดำเนินโครงการเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2558 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาล โดย ทช. ได้วิเคราะห์และจัดทำโครงการเพื่อยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท โดยจัดทำเป็นโครงการขนาดเล็ก ที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานระยะสั้น ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก 11 กิจกรรม 1,761 โครงการ ได้แก่
1. แผนงานปรับปรุงถนนเชื่อมโยงพื้นที่เกษตรและแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 1,253 โครงการ ระยะทาง 2,180 กิโลเมตร งบประมาณ 11,800 ล้านบาท
2. แผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 479 โครงการ (792 แห่ง) งบประมาณ 2,400 ล้านบาท
3. แผนงานปรับปรุงถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรและเขตทางพิเศษ จำนวน 29 โครงการ ระยะทาง 46 กิโลเมตร งบประมาณ 271 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินโครงการ ทช. ได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนโดยการเปิดโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น การสร้างภาคีเครือข่าย การมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ 8 แห่ง และสถาบันการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ เข้าถึงเข้าใจ และเข้าร่วมสังเกตการณ์ ร่วมตรวจสอบ ศึกษาและทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริงร่วมกับ ทช. ในทุก ๆ ขั้นตอนของการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างมีคุณภาพ มีความโปร่งใส มีข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนา การดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ รองรับการตรวจสอบจากทุกภาคส่วนได้
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา, ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th