พลตรี สุริศร์ สุขชุ่ม ผู้บัญชาการกองทัพพลทหารราบที่ 11 กล่าวรายงานว่า การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดโครงการถวายเป็นพระราชกุศลแบบยั่งยืน สนองแนวทฤษฏีใหม่และแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำหรับเยาวชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีการดำเนินการใน 4 ภาคของประเทศ โดยภาคกลางใช้พื้นที่ของกองทัพบก บริเวณกองพลทหารราบที่ 11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และต่อมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพะนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้เปิดเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมงานศิลปาชีพ ควบคู่กัน มีพื้นที่ จำนวน 45 ไร่
นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ กล่าวถึง การดำเนินงานโครงการดังกล่าวว่า เป็นการบูรณาการระหว่างส่วนราชการในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ กองพลทหารราบที่ 11 ในการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และงานศิลปาชีพให้เป็นรูปธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนประกอบของโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ อาคารนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ 2. ส่วนศิลปาชีพ ได้แก่ อาคารนิทรรศการส่งเสริมศิลปาชีพ และอาคารสาธิต และ 3. ส่วนอื่นๆ ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาเรียนรู้ ได้แก่ อาคารประชาสัมพันธ์ อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน มีองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนฯ เป็นจำนวนมาก
โอกาสนี้ คณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ได้เดินเยี่ยวชมบริเวณรอบ ๆ ค่ายอบรมฯ ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการ ณ อาคารปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี 7 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนที่ 2 วิถีพอเพียง ส่วนที่ 3 ดิน หัวใจของการทำการเกษตร ส่วนที่ 4 น้ำคือชีวิต ส่วนที่ 5 ท้องทุ่งนาคือที่มาของความพอเพียง ส่วนที่ 6 แปลงพืชผสมผสานเพื่อการเกื้อกูล และส่วนที่ 7 เกษตกรนักบริหารในไร่นา นิทรรศการงานศิลปาชีพ ฐานจักสาน ฐานลวดดัด กิจกรรมของการศึกษานอกโรงเรียน ฐานบล๊อกประสาน ฐานถ่านอัดแท่ง ฐานการเรียนรู้ประมง และเยี่ยมชมนักเรียนวิดน้ำ ดำนา จับปลา ไถนา ฐานหญ้าแฝก ฐานการเรียนรู้ดิน น้ำ ปุ๋ย และการเลี้ยงชันโรง
จากนั้น คณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลากินพืช (ปลาตะเพียน และปลายี่สกเทศ) จำนวน 50,000 ตัว ในบ่อสาธิตขนาดใหญ่ ภายในศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศิลปาชีพภาคกลาง ก่อนเดินทางกลับ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
เกศกนก/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th