รัฐบาล-สปช.-สนช.-ศธ.ล้วนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายตอนหนึ่งว่า
รัฐบาลนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูเป็นอย่างมาก โดยได้กำหนดนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยี มีวุฒิการศึกษาและปรับระบบสมรรถนะ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องของการศึกษาเป็นการเฉพาะ และในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปการจัดการศึกษาด้วยเช่นกัน
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะรับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศทั้งระบบ ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ที่จะต้องเตรียมการรองรับการพัฒนาประเทศและให้เท่าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งครูจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
การศึกษาต้องใช้ระยะเวลา - ไม่มี Quick Win
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิรูปการศึกษาปี พ.ศ.2542 ได้มีการยกฐานะทางเศรษฐกิจของครูให้มีเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนต่ำลงทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับมหาวิทยาลัย
ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะในเรื่องของการศึกษาไม่มี Quick Win แต่จะต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าเห็นผลสัมฤทธิ์ แต่ก็คงต้องมีการเริ่มต้นไว้ ดังเช่นการดูแลแก้ไขปัญหาครูกินครู ครูกินนักเรียน ที่จะต้องใช้เวลาในการหาคนเข้ามาอยู่ในระบบใหม่แทน
นายกรัฐมนตรีจึงได้ฝากให้ ศธ.สร้างระบบผลิตและพัฒนาครูภายใน 1 ปี
กรณีเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจึงได้ฝากโจทย์ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเรื่องระบบผลิตและพัฒนาครูให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตรากำลัง การดำรงมาตรฐานวิชาชีพ การประเมินวิทยฐานะ การทำให้ครูมีจิตวิญญาณ การเป็นครูมืออาชีพ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตและพัฒนาครู
การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจะได้หารือและแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานด้านการผลิตและพัฒนาครู ภายใต้การครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
เปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเปลี่ยนแปลงการศึกษา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยปรับบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุน เป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่พื้นที่ และมีหลักสูตรเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้มีเสื้อเบอร์เดียว รองเท้าเบอร์เดียว และครูเบอร์เดียว ที่ต้องสอนเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะบริบทและการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน
สำหรับโจทย์ใหม่ของการศึกษาในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าที่มีอัตราการเกิดลดลง คนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ครูต้องสอนคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน แต่จะต้องสอนผู้สูงอายุหรือคนวัยทำงานที่มีความรู้ต่ำที่ต้องการจะเรียนหนังสือด้วย
พร้อมเร่งนำนวัตกรรมการศึกษาแบบใหม่มาใช้ในการศึกษา
ในอนาคตอันใกล้จะต้องมีองค์ความรู้และนวัตกรรมในการจัดการศึกษาแบบใหม่ ที่จะช่วยตอบโจทย์บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ในหลายประการ อาทิ - กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่จะนำไปสู่ทักษะในศตวรรษที่ 21 มีการเสริมสร้างทักษะชีวิต คิดวิเคราะห์ มีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ย่อความ/สรุปความได้ คิดเลขในใจเป็น - เนื้อหาความรู้ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เท่านั้น แต่จะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้ความหมายและคุณค่าตลอดชีวิต มองอนาคตของตัวเองได้ เตรียมความพร้อมเพื่อการประกอบอาชีพ - การบริหารจัดการแบบใหม่ ที่จะต้องกระจายอำนาจในเชิงพื้นที่มากขึ้น นำผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญมาสอนอาชีพ มีหลักสูตรเชิงพื้นที่ และมีระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
เร่งผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทั้งการขนส่งระบบราง ระบบจัดการน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะมีการลงทุนกว่าล้านล้านบาท ส่งผลต่อความต้องการกำลังคนแบบใหม่ คือ คนที่ออกไปทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีครูแบบใหม่ เพื่อผลิตกำลังคนในส่วนนี้ด้วย
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า ครูเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้เรียนมากที่สุด การจะได้ครูที่ดีมีคุณภาพ สถาบันผลิตครูหรือสถาบันครุศึกษาจะต้องเป็นสถาบันหลักในกระบวนการสร้าง บ่มเพาะ และพัฒนาว่าที่ครูใหม่ของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามบทบาทสถาบันครุศึกษาทั่วโลก ได้แก่ การสร้างและบ่มเพาะบัณฑิตครูสู่สังคม การพัฒนาองค์ความรู้แก่ครูประจำการที่อยู่ในระบบการศึกษา การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และเพิ่มเติมบทบาทด้านการมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยเท่าทันโลกปัจจุบันและโลกอนาคตในศตวรรษที่ 21
ดังนั้น สถาบันครุศึกษาจะต้องเป็นสถาบันหลักในการสร้างและส่งต่อความรู้ทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพแก่ภาครัฐ ประกอบกับช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการปฏิรูปประเทศ การศึกษาเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการปฏิรูป โดยเฉพาะด้านการผลิตและพัฒนาครู จึงควรแสวงหาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถาบันครุศึกษาไทยสามารถปฏิบัติหน้าที่และบทบาทได้เต็มประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์
การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้บริหาร คณาจารย์ของสถาบันการอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรหลักและองค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตและพัฒนาครูทั่วประเทศ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ มาร่วมบรรยายเกี่ยวกับความสำเร็จจากการใช้แนวคิดสถาบันครุศึกษาในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการศึกษาของชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำความเข้าใจการพัฒนาการครุศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งระดมความคิดเพื่อนำเสนอกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสำหรับการสร้างครูใหม่และการพัฒนาครูประจำการของประเทศให้มีเป้าประสงค์ร่วมกันต่อไป
โดยช่วงที่สำคัญของการประชุม คือ การบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ที่ประสบความสำเร็จจากแนวคิดสถาบันครุศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการศึกษาของชาติ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับอุดมศึกษา ที่จะเสนอแนะกลยุทธ์ แนวทาง วิธีการ จากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th