นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ "ปฏิรูปการศึกษา...สร้างอนาคตประเทศไทย" ย้ำต้องสร้างพลเมืองที่รู้จักสิทธิและหน้าที่ มีความรู้ความสามารถตรงกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 26, 2015 17:16 —สำนักโฆษก

วันนี้ (26ส.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา...สร้างอนาคตประเทศไทย" ในงานสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์สู่อนาคต” จัดโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อรายงานผลและสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และประชาชนถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของคณะกรรมาธิการฯ ตลอดจนเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว อันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์เพื่อสร้างอนาคตประเทศไทยสู่โลกยุคใหม่ โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ประมาณ 1,000 คน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา...สร้างอนาคตประเทศไทย" ว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้เชิญมาร่วมงานในวันนี้ และได้มีโอกาสพบปะกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาทุกฝ่าย เพื่อมาทำความเข้าใจถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สำเร็จ ทั้งนี้หากไม่มีการขับเคลื่อนอย่างแท้จริงการปฏิรูปการศึกษาก็เกิดขึ้นไม่ได้รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน วันนี้เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรจะสามารถรวบรวมบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดในการที่จะเดินหน้าประเทศขับเคลื่อนไปด้วยกันให้ได้ เพราะการวางรากฐานของประเทศระยะยาวนั้น การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นรากฐานของทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะต้องยกระดับทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีการศึกษาและมีรายได้น้อยเป็นคนที่มีความรู้และมีการศึกษาเพิ่มขึ้นสามารถเรียนรู้และช่วยเหลือตนเองได้ ตลอดจนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลหรือเอกสารของทางราชการ ซึ่งหากพัฒนาทุกคนได้เท่าเทียมกันแล้วก็จะสามารถขยายผลไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องของภาษาต่างประเทศต่อไปได้ ขณะเดียวกันผู้บริหารทางด้านการศึกษาต้องมีความเข้าใจในระบบการศึกษาของโลกและอาเซียน และมีการคิดให้ซับซ้อนมากขึ้น ลดอัตตาตนเองเพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้เกิดความเชื่อมโยงบูรณาการการทำงานระหว่างองค์กรร่วมกันทุกมิติก็จะทำให้ประเทศชาติมีบุคลากรทางการศึกษาที่ดี มีนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่ดี มีคุณภาพและคุณธรรม สามารถเดินหน้าประเทศขับเคลื่อนไปได้และไม่มีความขัดแย้งอีก

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงหัวใจของการศึกษาที่ดีว่า คือการสอนให้คนมีความรู้และมีจิตสำนึกที่ดี นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งทำอย่างไรให้ทุกคนมีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ รู้จักตนเอง ไม่ติดกับดักตนเองอีกต่อไป สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยไม่รอความช่วยเหลือกจากผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว รู้จักแบ่งปันต่อผู้อื่นในสังคม ขณะเดียวกันต้องสร้างพลเมืองที่รู้ทั้งสิทธิและหน้าที่ และสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถให้ตรงกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในทุกด้านของประเทศให้เข้มแข็ง เช่น เรื่องการวิจัยและพัฒนา การเตรียมความพร้อมแรงงาน บุคลากรด้านการบริการทางด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาต้องมีการสร้างแรงจูงใจ โดยเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ควบคู่กับการศึกษาในระบบ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารมาปรับใช้ในเรื่องของการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม รวมทั้งเพิ่มในเรื่องการปลูกจิตสำนึกที่ดี ใฝ่เรียนรู้ การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ เด็กรู้จักตั้งข้อสังสัย คิดวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกชักจูงจากผู้ไม่หวังดีไปในทางที่ไม่ถูกต้องและทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามในส่วนของการดำเนินการแบบเดิมซึ่งดีอยู่แล้วก็ให้นำมาดำเนินการควบคู่กับแบบใหม่ที่จะดำเนินการ ทั้งการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการศึกษา มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้จบการศึกษาออกมาแล้วมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ขณะเดียวกันการสื่อสารของส่วนราชการกับประชาชน ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ต้องการผลักดันเรื่องปฏิรูปการศึกษาโดยเร็ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินการในเรื่องที่ใกล้ตัวเด็กหรือผู้เรียนก่อน ทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ปกครองและครอบครัวมีความสุขด้วย ขณะเดียวกันขอให้พิจารณาถึงเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงการศึกษา รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนว่าเพียงพอและมีความเหมาะสมหรือไม่ ตลอดจนเรื่องของเอกสารหรือตำราเรียนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะสามารถนำตำราเรียนกลับมาใช้ต่อโดยไม่ต้องชื้อได้หรือไม่ หรืออาจจะมีการปรับราคาให้มีความเหมาะสมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการปฏิรูปการศึกษาระยะสั้นสำเร็จก็จะส่งผลต่อไปถึงระยะยาว ซึ่งการศึกษาระยะยาวมีความสำคัญและจำเป็น เพราะหากประเทศใดที่ไม่มีคุณภาพของคนประเทศชาตินั้นก็จะไม่มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเรื่องการสร้างคุรุทายาท เพื่อเป็นอนาคตของประเทศชาติในวันข้างหน้า และต้องสร้างคนให้เป็นผู้ที่รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความคิดสร้างสรรค์ ยึดหลักความพอเพียง ทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งกัน ทุกคนมีจิตสำนึกรู้จักช่วยเหลือตัวเองซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง และวันหน้าจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่มีข้อขัดแย้งขึ้นอีก

จากนั้น นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้มอบรายงานวาระการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 1 ชุด แก่นายกรัฐมนตรีด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ