คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอผลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ในช่วงระยะเวลาเดือนมกราคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2558 ว่า คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาและวิเคราะห์จากการทบทวนเอกสาร พูดคุยและปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และได้จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการเพื่อคลี่คลายประเด็นปัญหาเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำอีก ในส่วนของขั้นตอนเริ่มต้นเป็นการนิรโทษกรรมสำหรับ “คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งหมายความถึงบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออก ซึ่งความคิดทางการเมือง โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ส่วนขอบเขตในการกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับการนิรโทษดังกล่าวข้างต้น ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ สมาชิกที่อภิปรายส่วนใหญ่เห็นว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากนักการเมืองสองขั้ว โดยยกเรื่องความเหลื่อมล้ำ การไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเหตุ ถ้าจะให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้ ต้องทำให้นักการเมืองเลิกทะเลาะกัน จะต้องสร้างความปรองดองให้สำเร็จก่อน จากนั้นจึงจัดการเลือกตั้ง หากยังสร้างความปรองดองไม่สำเร็จ ไม่ควรจัดเลือกตั้ง มีสมาชิกบางท่านได้ให้ข้อเสนอเรื่องการสร้างความปรองดองว่าให้ออกกฎหมายหยุดคดีไว้ก่อน แต่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม และให้ปล่อยตัวผู้ถูกดำเนินคดีเป็นอิสรภาพ รวมถึงเสนอให้มีการตั้งกรรมการอิสระว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และมีคณะกรรมการสมานฉันท์ถาวร ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองและคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งพิจารณาเสร็จแล้ว โดยให้คณะกรรมาธิการฯ นำรายงานไปปรับปรุง เพื่อส่งรายงานพร้อมความเห็นและข้อเสนอของสมาชิก ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th