นรม. เป็นประธานในพิธีเปิด “กองทุนการออมแห่งชาติ” (กอช.)

ข่าวทั่วไป Thursday August 20, 2015 10:07 —สำนักโฆษก

วันนี้ (20 สิงหาคม 2558) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด “กองทุนการออมแห่งชาติ” (กอช.) โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหารจากสถาบันการเงินของภาครัฐ ได้แก่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตลอดจนเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนแห่งชาติ เข้าร่วมงานด้วย

ในโอกาสนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวรายงานความว่า กองทุนการออมแห่งชาติ ก่อตั้งภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนไทยทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างวินัยการออมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประชากรคนไทยกว่า 65 ล้านคน มีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน ทำให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในคณะเดียวกันผู้สูงอายุจำนวนมาก ในสังคมไทยยังขาดหลักประกันในการดำรงชีวิต ตลอดจนประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น พ่อค้า แม่ค้า คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง คนขับรถยนต์รับจ้าง หรือ Taxi ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน จึงได้ผลักดันพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ พร้อมออกกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2558

นับเป็นโอกาสที่ดีซึ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ โดย นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังให้กองทุนดังกล่าวจะได้สร้างหลักประกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนพร้อมมีสวัสดิภาพที่มั่นคงยิ่งขึ้นตลอดไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดงานสรุปความว่า ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความน่ากังวลถึงการปรับตัวในการดำเนินชีวิตที่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยหากไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้หลังเกษียณหรือหลังจากอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว

การเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตคือการเริ่มวางแผนทุกอย่างตั้งแต่วันนี้ เพราะสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยและเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องอยู่บนความเสี่ยงต่างๆ คือการเตรียมตัวให้พร้อมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการออมเงินเพื่อนำมาใช้ยามฉุกเฉินหรือยามแก่ชรา

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การสร้างโอกาสในการออม และการส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัย การออมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างรากฐานชีวิตที่มั่นคง ซึ่งการออมเงินกับ กอช.ในจำนวนขั้นต่ำเพียง 50 บาท ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถออมเงินได้ โดยเงินออมของทุกคนจะเพิ่มขึ้นจากเงินของรัฐบาลที่ร่วมสมทบให้ และจากการนำเงินไปลงทุนโดยผู้บริหารกองทุนมืออาชีพ ภายใต้นโยบายที่รัดกุมและเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนของสมาชิก เพื่อให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และเป็นหลักประกันว่าการจ่ายบำนาญจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ การออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติไม่ได้เป็นเพียงหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่จะเป็นเงินทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวและเจริญเติบโต รวมถึงสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เพราะประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ และยังสามารถส่งต่อถึงสังคมและบ้านเมือง และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบประกันสังคมในหลายรูปแบบ แต่ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมเมื่อแก่ชราส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในระบบหรือมนุษย์เงินเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานของสถานประกอบการเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหมดประมาณ 14 ล้านคน ขณะที่แรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย และผู้รับจ้างทั่วไป เป็นต้น ประมาณจำนวน 25 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้มีหลักประกันทางสังคมเพื่อการชราภาพอย่างเหมาะสม

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกมารองรับในการสร้างหลักประกันทางรายได้เพื่อการชราภาพให้กับกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคม จึงได้ผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติในการทำหน้าที่เป็นช่องทางการออมและสร้างหลักประกันทางรายได้ยามเกษียณให้แก่ประชาชนที่ยังขาดหลักประกันในส่วนนี้ ให้ได้รับความคุ้มครองดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดียามชรา ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาช่องว่างทางสังคมโดยการเติมเต็มระบบหลักประกันทางสังคมของไทยให้สมบูรณ์และมั่นคงยิ่งขึ้น ความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย สามารถเสริมสร้างได้ด้วยการเริ่มต้นมีวินัยการออมที่ดีตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนผู้มีสิทธิทุกท่านจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นในการออมเงินร่วมกับภาครัฐ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนกันตลอดไป

ตอนท้ายของการกล่าวเปิดงานครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังและปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะให้กองทุนการออมแห่งชาติสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมกองทุนนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีความแข็งแกร่งและเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

หลังจากนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานเสร็จแล้ว ได้ประกอบพิธีเปิดงานโดยการหยอดเหรียญลงไปในกล่องออมสินจำลองพร้อมมอบป้าย “กอช. ลำดับที่ 1” แก่สมาชิกรายแรกของกองทุนฯ รวมทั้งไปเยี่ยมชมนิทรรศการและหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามลำดับพร้อมถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มสมาชิก กอช. ด้วย

อนึ่ง หลักการสำคัญของการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ มีหลักเกณฑ์สำคัญและจุดเด่น คือเงินสมทบจากภาครัฐ ค้ำประกันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินฝากประจำ 12 เดือน ถ้าได้บำนาญจะได้ต่อเนื่อง จนกว่าจะเสียชีวิต ส่วนเงินสะสมและเงินสมทบทุกบาททุกสตางค์จะโอนให้ทายาท โดยมีเงื่อนไขของสมาชิกคือสัญชาติไทย อายุระหว่าง 15-60 ปี ไม่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในระบบบำนาญหรือส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์กรณีชราภาพตลอดจนต้องไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับสมทบจากรัฐบาลหรือนายจ้าง ประชาชนที่สนใจกองทุนดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ดวงใจ/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ