เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสรุปได้ ดังนี้
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สศค. ได้มีการดำเนินงานด้านการเงินการคลังที่สำคัญ ทั้งที่เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการวางรากฐานระยะยาว โดยได้มีการผลักดันมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น มาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือ SMEs เป็นต้น ในส่วนของมาตรการที่เป็นการพัฒนาเชิงโครงสร้างเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว มีนโยบายที่ สศค. ได้ดำเนินการแล้ว เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ นาโนไฟแนนซ์ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างชาติในไทย (IHQ) และการปฏิรูปโครงสร้างอัตราอากรขาเข้า เป็นต้น
นอกจากนี้ มาตรการที่อยู่ระหว่างการผลักดัน เช่น พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เป็นต้น
ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีระดับหนี้ที่ไม่สูงจนเกินไป ระดับรายได้ที่ไม่น้อยจนเกินไป และหากรัฐบาลมีความต้องการที่จะลงทุนในโครงการใหญ่ๆ สามารถร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยมีระบบภาษีที่ดี และอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก รวมทั้งการดูแลเศรษฐกิจ ผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้นมีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีการใช้ต้นทุนในการผลิต ที่ดินและแรงงานไปหมดแล้ว ดังนั้น ในอนาคตจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคน ผ่านระบบการศึกษา ซึ่ง ม.ร.ว. จัตุมงคล เห็นว่า ควรมีการพัฒนาใน 2 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น และการมุ่งเน้นให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีโอกาสได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมจากสาขาที่ศึกษา รวมถึงการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายของนักศึกษาต่างสาขาวิชาด้วย นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปลูกฝังในเรื่องคุณธรรม และธรรมาภิบาล
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ให้ความเห็นว่า ในภาคการเงินหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 บริษัทขนาดใหญ่ปิดตัวลง ส่งผลให้ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารหายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ Business Model เดิมใช้ไม่ได้แล้ว ธนาคารจำเป็นต้องเปลี่ยน Business Model ใหม่ เช่น เปลี่ยนเป้าหมายจากลูกค้ารายใหญ่เป็นลูกค้าขนาดกลางและเล็ก ต้องเป็น Universal Bank นอกจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤตซับไพร์มจะเห็นได้ว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากประเทศจีนมีนโยบาย Growth Engine ของโลก ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุน โดยเฉพาะภาค Real Estate จะเห็นได้ว่า จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในภาค Real Estate จำนวนมาก แต่ปัจจุบัน ภาค Real Estate ที่จีนใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มสะดุด อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าจีนสามารถผ่านปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะกำลังซื้อยังแข็งแรงพอที่จะช่วยได้ โดยเชื่อว่า จีน คือ New Normal ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และจีนคือคู่ค้าสำคัญของเรา ที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวตามให้ได้ สำหรับในส่วนนวัตกรรมด้านการเงินเห็นว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยน Business Model ของธนาคาร กล่าวคือ คนจะไม่ถือเงินสด และการทำธุรกรรมจะอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งธนาคารต้องปรับตัว สุดท้ายสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศก้าวกระโดดไปได้ คือ ประเทศไทยต้องมี Vision และมีเข็มทิศที่ชัดเจน โดยต้องกำหนด Vision ว่าเราต้องการเป็นอะไร และภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายให้ชัดเจน และให้ภาคเอกชนดำเนินการตาม
กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภายนอก แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส โดยในส่วนของภาคการคลังและระบบเศรษฐกิจโดยรวมยังมีสถานะที่ดี อย่างไรก็ดี ประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ New Normal โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของคน เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และควรมีการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมและธรรมภิบาลด้วย
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3511
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th