รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจได้รับผลดีในกลุ่มที่ส่งออกไปจีนเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่ 3 โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายการส่งออกของจีนในภาวะนี้ เช่น ยางพาราและชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์จากไทย ส่วนสินค้าไทยที่จีนนำเข้าเพื่อใช้บริโภคในประเทศจะแข่งขันด้านราคาได้ลดลง แต่อาจได้รับผลกระทบไม่มาก โดยจีนอาจลดการนำเข้าหรือขอลดราคาสินค้า เช่น มันสำปะหลัง และผลไม้สด ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทยด้วยสัดส่วน 10.8% และเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วน 18.8%
นายสุธนัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม EXIM BANK พร้อมช่วยผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านเงินทุน ปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกทราบล่วงหน้าว่าจะได้เงินจากการส่งออกจำนวนเท่าไรในอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับธนาคาร รวมทั้งบริการประกันการส่งออก ที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเสนอเทอมการชำระเงินแก่ลูกค้าที่ผ่อนปรนและแข่งขันได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการค้า ได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลาย ปฏิเสธการชำระเงิน และปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือสาเหตุทางการเมือง ได้แก่ การควบคุมการโอนเงิน การห้ามนำเข้าสินค้าหรือยกเลิกการนำเข้า การเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นต้น
“ผู้ส่งออกไทยควรมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้แข่งขันได้มากขึ้น โดยไม่เน้นแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว และไม่คิดเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศด้วยประกันการส่งออก เพื่อให้ค้าขายได้อย่างมั่นใจและธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง” นายสุธนัย กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร EXIM BANK สำนักงานใหญ่
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1141-6
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th