1.กำไรสุทธิ ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2558 เท่ากับ 706 ล้านบาท ซึ่งมีผลกำไรต่อเนื่องนับตั้งแต่คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ชุดปัจจุบัน ได้เข้ามาบริหารงานในเดือน ส.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงเดือน ก.ค. 2558 มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนปี 2558 ทั้งนี้เป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารเพิ่มขึ้น สินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้นลดภาระที่ต้องกันสำรอง และธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนเงินได้เป็นไปตามแผนงาน
เพียงวันที่ 19 ส.ค.2558 ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 19,256.46 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นลูกหนี้สินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท จำนวน 8,711 ราย และ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2558 มียอดสินเชื่อคงค้าง 86,140 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เท่ากับ 10.05 %
2. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือน ม.ค.–ก.ค. 2558 ธนาคารสามารถลด NPLs ได้จำนวน 4,809 ล้านบาท โดย ณ สิ้น ก.ค. 2558 มี NPLs คงเหลือ 27,151 ล้านบาท (คิดเป็น 31.52% ของสินเชื่อรวม) เนื่องจากธนาคารได้ขายหนี้ภาคตะวันออก กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 6 กอง จำนวน 2,769 ล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างหนี้และรับชำระหนี้จากลูกหนี้ NPLs อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม NPLs ของธนาคารเดือน ก.ค.2558 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากเดือน มิ.ย. 2558 ที่อยู่ระดับ 27,184 ล้านบาท (คิดเป็น 31.47%ของสินเชื่อรวม) เพราะปัจจุบันการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก เนื่องจากลูกหนี้มียอดขายลดลงมาก ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้คือ การดูแลลูกค้าเดิมไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs เป็นสำคัญ
3. สินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ณ วันที่ 19 ส.ค. 2558 มีผู้ประกอบการ SMEs ติดต่อขอสินเชื่อวงเงิน 8,208 ล้านบาท 1,682 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการ SMEsที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว 68.94 % (วงเงิน 5,659 ล้านบาท 1,281 ราย) ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนราย วงเงินสินเชื่อ 1. SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว 1,281 5,659 2. SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New/Start up) ที่มีนวัตกรรม 32 221 3. SMEs ขนาดย่อมที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มสามารถเติบโตไปสู่ขนาดกลางได้ 209 1,422 4. SMEs ที่มีความประสงค์ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) 160 906 รวม 1,682 8,208
ทั้งนี้ ธนาคารสามารถอนุมัติได้แล้ว 510.15 ล้านบาท 158 ราย โดยการพิจารณาในช่วงต้นค่อนข้างช้า เพราะมีประเด็นเรื่องคำนิยามว่าเป็นลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งธนาคารได้ซักซ้อมความเข้าใจกับสาขาทั่วประเทศแล้ว จึงเชื่อว่า ในระยะต่อไปจะสามารถดำเนินการปล่อยกู้ได้ดีขึ้น
4. กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs กองย่อยกองที่ 1 (Venture Capital) วงเงิน 500 ล้านบาท ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อ 6 ก.ค. 2558 ว่ามี SMEs 4 ราย ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกองทุน นั้น ขณะนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ และผู้จัดการ ทรัสต์ (Trust Manager) ซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยง กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาแผนการขยายกิจการของ SMEs ทั้ง 4 รายในรายละเอียด เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ธนาคารจะเข้าร่วมลงทุน ซึ่งตั้งเพดานไว้รายละไม่เกิน 30 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้คัดเลือก SMEs ที่อยู่ในข่ายที่จะเข้าร่วมลงทุนเพิ่มได้อีก 4 ราย เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม
ยานยนต์ 2 ราย อุตสาหกรรมพื้นฐาน 1 ราย และอุตสาหกรรมแปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร 1 ราย
5. ธนาคารเปิดหน่วยบริการทางการเงิน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมหน่วยงานภาครัฐเปิดเป็น One Stop Service ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยเอสเอ็มอีแบงก์ เป็นธนาคารเดียวที่เปิดให้บริการในศูนย์ดังกล่าวและมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่รวมจัดตั้งในศูนย์ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานแรงงานจังหวัดตาก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก สสว. บีโอไอ บสย. และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้ การเปิดศูนย์ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดชายแดนประเทศเมียนม่าร์ สามารถเป็นประตูเปิดการค้าขายสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายในพื้นที่นี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท และ เอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนผู้ประกอบการในการขยายการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตากดังกล่าว ด้วยสินเชื่อหลากหลายโดยเฉพาะสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4%
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
โทร.02-265-4564-5
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th