นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการ ของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด จำนวน 16 บูธ อาทิ 1) สหกรณ์ก้าวหน้าปวงประชาเป็นสุข 2) การจัดการดินและน้ำเมล็ดพันธุ์ดีมีขึ้นไปกว่าครึ่ง 3) การบริหารจัดการพื้นที่แปลงใหญ่ 4) การบริหารจัดการโคเนื้อครบวงจร 5) สานสัมพันธ์ชายแดน 6) นวัตกรรมเรื่องใหม และอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมทั้งรับฟัง ผลการดำเนินงานของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด ในรูปแบบ Social Business และพบปะหารือกับสมาชิกสหกรณ์ ว่ารัฐบาลพร้อมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และจะเดินหน้าประเทศไปให้ได้
พร้อมกล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับพื้นที่ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ได้ใช้แนวคิด Social Business ไม่ใช่แนวทาง Social Enterprise เป็นการดำเนินงานแบบสหกรณ์ (Co-Op) /สภาการเกษตร ดำเนินการร่วมกับ ธกส. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทำให้สหกรณ์ของเกษตรกรเข้มแข็ง เพราะรับซื้อผลผลิตโดยตรงกับเกษตรกร ที่ไม่หวังผลกำไร ถ้าหากทำธุรกิจต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่จะส่งต่อไปยัง Social Enterprise ในระดับสากล โดยต้องสร้าง Social Business ในทุกจังหวัด ภายในปี 2558-2559 เพื่อส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และสร้างความเข้มแข็งอีกด้วย พร้อมทั้ง ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันส่งเสริมการค้าแบบ Social Business และการค้าชายแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก
นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม Social Business จังหวัดตาก ได้ศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมโดยวิธีการสหกรณ์ในเขตนิคมแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้นำรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ดำเนินการที่ตำบลแม่กาษา ในรูปแบบ “แม่กาษา Model” ในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยใช้สหกรณ์เป็นแกนกลางในการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยมีส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชุมชน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง ประเทศยั่งยืน” ที่สามารถเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมโดยวิธีการสหกรณ์ได้ และสามารถเชื่อมโยงกับขบวนการสหกรณ์กับประเทศเมียนมา ภายใต้ความสัมพันธ์ บ้านพี่เมืองน้อง (Sister city) ได้ และสามารถช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ให้กับชุมชนในเขตนิคมสหกรณ์แม่สอด และอำเภอใกล้เคียง ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้กำหนดแนวนโยบายกระตุ้นการค้าการลงทุนบริเวณแนวชายแดนและใกล้แนวชายแดนตามโครงการ Social business หรือการประกอบการเพื่อตอบสนองต่อสังคม ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับโครงการในพระราชดำริ โครงการหลวง เพื่อให้สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้ภายในปี 58 ในลักษณะของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม จะต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แต่เดิม ได้รวมทั้งต้องนำผลิตผล ซึ่งออกมากในพื้นที่นำมาแปรรูปแล้วจัดจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และจะต้องทำให้การค้าการลงทุนมีเสถียรภาพ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครแม่สอด ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยเครื่องบิน ATR ของกองทัพอากาศ ถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลาประมาณ 18.00 น.
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ชมพูนุท / รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th