ในการนี้ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 57 (นศ.วปอ.57) นศ.วสท.รุ่นที่ 56 นศ.วทบ.ชุดที่ 60 นศ.วทร.รุ่นที่ 47 และ นศ.วทอ.รุ่นที่ 49 ได้ร่วมกันจัดงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติ - ยุทธศาสตร์ทหาร ประจำปีการศึกษา 2559 – 2563 โดยนำเป้าหมายของชาติในอีก 20 ปีข้างหน้ามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ซึ่งกำหนดจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ภายใน 5 ปี ที่ต้องการให้ประเทศไทย "ก้าวสู่สังคมแห่งความสุข เศรษฐกิจเชิงรุกที่เข้มแข็ง ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญคือ 1. การปฏิรูปและสร้างสังคมให้มีความสุขอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 2. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ดำเนินการแบบเชิงรุก สร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับชาติและประชาชน 3. การปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านพลังงาน (การจัดหา การอนุรักษ์และการใช้พลังงาน) ให้มั่นคงและยั่งยืน 4. การปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน คืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ 5. การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการบริการ และ 6. การปฏิรูปงานบริหารจัดการความมั่นคงภายในประเทศ ในส่วนของยุทธศาสตร์ทหารได้จัดทำแนวทางในการบริหารจัดการกำลังอำนาจทางทหาร ที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนกำลังอำนาจแห่งชาติด้านอื่น ๆ โดยกำหนดคุณลักษณะสำคัญของกองทัพไทยในอนาคตว่าต้องเป็นกองทัพที่มีความน่าเชื่อถือ มีการตอบสนองที่รวดเร็ว และเป็นกองทัพอเนกประสงค์ ทั้งนี้ การจัดทำและการแถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหารจะเป็นข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดี พร้อมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหารมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การขับเคลื่อนระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน ตลอดจนตำรวจ ทหาร ซึ่งทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตระหนักในหน้าที่ของตนเอง อีกทั้งข้าราชการต้องมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และดูแลประชาชนด้วยความชอบธรรม
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเด็นด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก ๆ เพื่อโตมาแล้วจะไม่ทุจริต หรือไม่โกง โดยเบื้องต้นรัฐบาลได้กำหนดให้สถานศึกษาบรรจุค่านิยม 12 ประการ ในการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กไทยมีความรู้ความเข้าใจ มีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นคนดีของชาติ นอกจากนี้ต้องดูแลกลุ่มนักเรียน – นักศึกษาที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ โดยจะต้องหามาตรการรองรับ เช่น การแนะแนววิชาชีพต่าง ๆ ให้กับกลุ่มนักเรียน – นักศึกษาดังกล่าวได้มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น ซึ่งการศึกษาจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ด้านการลงทุนนั้น ต้องการให้เป็นแบบ Partnership หรือ Thailand +1 โดยจะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจเข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ด้านความมั่นคง ในเรื่องการบริหารจัดการความมั่นคงภายในประเทศและกิจการชายแดน ควรปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเป็นระบบเดียว ให้มีเอกภาพในการบริหารและการปฏิบัติ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง ความมั่นคงภายในประเทศ ความมั่นคงชายแดน และความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ขณะเดียวกันด้านกฎหมายนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะทำได้ หากทุกคนมีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย โดยขอให้ทุกคนมีความเคารพต่อกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการมีเสถียรภาพที่ดีของประเทศ
ทั้งนี้ เรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ของคนไทยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยจะต้องมีการปลูกฝังให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความรัก และรู้จักหวงแหนในชาติบ้านเมืองของไทยด้วย ส่วนด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทั้งระบบ เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชิงวัฒนธรรม และสร้างความเป็นไทย ตลอดจนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ไม่ให้มีความเสื่อมโทรม พร้อมทั้งรณรงค์ให้ “ไทยเที่ยวไทย” ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจให้มีความเข้มแข็งต่อไป
ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการนำเสนอยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร ตลอดจนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วยหัวใจ (Power Heart) เพื่อให้เกิดความ "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" อีกทั้งยังขอให้ทุกคนมีความ Strong together เพื่อทำให้อนาคตของประเทศไทยมีความเข้มแข็งสืบไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th