การเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Island Development Forum-PIDF) ครั้งที่ ๓ ณ กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิของรองนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Sunday September 6, 2015 09:56 —สำนักโฆษก

พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Island Development Forum-PIDF) ครั้งที่ ๓ ณ กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี (Special Envoy)

ระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม – ๓ กันยายน ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Island Development Forum-PIDF) ครั้งที่ ๓ ณ กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี (Special Envoy) โดยฝ่ายฟิจิได้ตอนรับรองนายกรัฐมนตรีในฐานะแขกเกียรติยศ (Chief Guest) ซึ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิจิและหารือข้อราชการกับนายรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ รวมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและสาธารณรัฐฟิจิด้วย

กรอบการประชุม Pacific Islands Forum เป็นกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้างสำหรับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีรวบรวมผู้นำจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน จากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำไปสู่แนวทางใหม่ ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาแก่หมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการสร้าง Green / Blue Economy

ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ รองนายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะนายราตู เอเปลิ ไนลาติคาอู ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิจิ และหารือข้อราชการกับนายโจเซเอีย โวเรเก ไบนิมารามา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ โดยมีคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐฟิจิเข้าร่วมด้วย รองนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณสำหรับคำเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมการกระชุมในครั้งนี้ได้ เพราะภารกิจเร่งด่วนภายในประเทศ รวมทั้งกล่าวขอบคุณที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิจิที่ได้มีสารแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกันต่อไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อาทิ การเปิดสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิจิประจำประเทศไทย การจัดโครงการสัมมนาส่งเสริมธุรกิจไทย-ฟิจิ ณ กรุงซูวา โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ในวันที่ ๒๒ กันยายน การส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือสาขาน้ำตาล มะพร้าว ประมง การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและมหาวิทยาลัย University of South Pacific รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของฟิจิ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและสาธารณรัฐฟิจิ (MOU on Technical Cooperation) ซึ่งไทยจะเริ่มต้นดำเนินการได้ทันทีในโครงการฝึกอบรมด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้จัดทำแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ๓ ปี ระหว่างไทย-ฟิจิ ในสาขาที่ฝ่ายฟิจิต้องการ อาทิ การพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยอาจพิจารณามีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centre) ที่ประเทศฟิจิ เพื่อดำเนินการการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีในฐานะแขกเกียรติยศได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับพร้อมกับผู้นำประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเวทีเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก ณ Valenibose Ground ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติให้ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศและเป็นตัวแทนผู้นำกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีฟิจิและประชาชนชาวฟิจิสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น

เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๘ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก ภายใต้หัวข้อ “Building Climate Resilient Green Blue Pacific Economies” โดยมีสมาชิก PIDF เข้าร่วมการประชุม ๖ ประเทศ ๑ เขตปกครอง จากสมาชิกทั้งหมด ๑๕ ประเทศและ ๘ เขตปกครอง และมีประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอีก ๑๙ ประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศ/เขตปกครองที่มีระดับผู้นำประเทศ/ผู้นำรัฐบาล และรัฐมนตรีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๑๒ ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย สาธารณรัฐนาอูรู หมู่เกาะโซโลมอน สาธารณรัฐตองกา สาธารณรัฐคิริบาส ตูวาลู โตเกเลา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สาธารณรัฐวานูอาตู และเฟรนช์โปลินีเซีย ซึ่งประเทศไทยได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกทราบเกี่ยวกับ

การดำเนินการของประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง แสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยินดีที่จะร่วมมือทางวิชาการกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งในระดับทวิภาคี การให้ทุนการฝึกอบรมผ่านโครงการ Annual International Training Courses ความร่วมมือภายใต้กรอบ Pacific Islands Forum (PIF) ในฐานะประเทศคู่เจรจา และแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งไทยได้ประกาศในการประชุม Thailand-Pacific Islands Forum (TPIF)

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบปะหารือกับผู้นำและตัวแทนระดับสูงจากหมู่เกาะแปซิฟิก และได้มีโอกาสพบปะหารือกับนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซียด้วย

กรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้างสำหรับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นเวทีที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการสร้าง Green / Blue Economy

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้เป็นประธานกล่าวเปิดนิทรรศการ “Thailand and the Philosophy of Sufficiency Economy: A Path to Sustainable Development” เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทของประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม

การเข้าร่วมการประชุม PIDF ครั้งที่ ๓ ในฐานะแขกเกียรติยศ (Chief Guest) ของรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทที่โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศแปซิฟิก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ