นรม.กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 58 ย้ำให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ต่อสู้และต่อต้านไม่ยอมรับการทุจริตคดโกงชาติ

ข่าวทั่วไป Sunday September 6, 2015 09:56 —สำนักโฆษก

วันนี้ (6 ก.ย. 58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2558 : “Active Citizen… พลังพลเมือง ต่อต้านคอร์รัปชัน”ในหัวข้อ “ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาล ในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้รวมพลังจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดการปฏิรูปในการทำงาน และการมีส่วนร่วมของภาคราชการและเอกชน เพื่อให้การปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชั่นเกิดเป็นรูปธรรม มีการเปลี่ยนแปลงจากการยอมรับเพิกเฉยของภาคราชการและเอกชน ตลอดจน เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 1,500 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้กล่าวรายงานว่า ปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสนับสนุนการ ขับเคลื่อนการปรามปราบคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ชัดเจน และ รวดเร็ว พร้อมทั้งปลูกฝังเยาวชนให้มีการจัดค่ายเยาวชนไทยไร้คอร์รัปชั่น การริเริ่มทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคมในรูปของร้านกาแฟ “คอร์รัปชั่น – ฉันไม่ขอรับ” การจัดทำหนังสั้นและหนังโฆษณา รวมถึงการ บรรยายอบรมในวาระต่างๆ ภารกิจ ด้านป้องกัน เช่น การจัดทำ “ข้อตกลงระดับการให้บริการ” (SLA) และการสร้างความตื่นตัว ของภาคธุรกิจและองค์กรวิชาชีพสาขาต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งมีการเสนอแนะให้ตรากฎหมายสำคัญบางเรื่อง ที่จะเป็นเครื่องมือและหลักประกันสำคัญว่า ระเบียบและกติกาใหม่ของสังคมจะไม่ถูกเพิกเฉยในอนาคต” ผลงานของรัฐบาล คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงหน่วยงานภาคปฏิบัติ เช่น คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดังนี้ 1. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2. มาตรการที่สร้างความตื่นตัวของประชาชน 3. การรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็งโดยภาครัฐ 4. มีการประกาศใช้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้วสองฉบับ คือ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ และ การปรับปรุง พ.ร.บ. ป.ป.ช. 5. มาตรการเฉพาะด้านที่ถือว่าก้าวหน้ามากเช่นกัน

พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น การโกงชาติ ซึ่งไม่สามารถทำคนเดียวได้ต้องอาศัยทุกคนต้องร่วมกันทำ โดยหลัก 3 ป. ดังนี้ ปลูกฝัง คือ การสร้างจิตสำนึกที่ตัวบุคคล สร้างความเข้มแข็งทางกลไกและเครือข่าย และการสร้างพลังคุณธรรมขับเคลื่อนสังคม ป้องกัน คือ การเสริมสร้างสังคมธรรมาภิบาล สร้างระบบภูมิคุ้มกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการปฏิรูปกฎ กติกาองค์กรให้มีความชัดเจน สร้างการยอมรับร่วมกัน บังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราบปราม การส่งเสริมกลไกภาคประชาชน ประชาสังคม ในการเป็นผู้แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังและติดตาม สร้างความเข้มแข็งของกลไกตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ด้วยการสร้างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สำหรับในส่วนของคำว่า ACTIVE CITIZEN เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้กันทั่วโลก เป็นแนวทางของการปฏิรูปสังคมที่นานาประเทศใช้ปฏิบัติการอย่างแพร่หลายเป็นที่ยอมรับ 3 ACTIVE แปลว่า ACTIVE แปลว่า กระตือรือร้น มีพลัง มีการเคลื่อนที่ พร้อมปฏิบัติการ CITIZEN แปลว่า พลเมือง ACTIVE CITIZEN คือ พลเมืองที่มีพลัง มีความตื่นรู้ และพร้อมลงมือทำ เพราะในทุกการปฏิรูปการสร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ต้องเป็นประชาชนเท่านั้น ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันอย่างแท้จริง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเปิดงานและกล่าวปาฐกถาว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงาน “วันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ และได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลให้แก่ประเทศชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง อีกทั้ง ยังแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางด้านคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม ทำให้ประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถขับเคลื่อนแผนงานและนโยบายได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง โดยส่งผลต่อความไว้วางใจของประชาชน และขาดความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในวาระการปฏิรูปประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการในแง่การกำหนดกฎหมาย กฎระเบียบ และบทลงโทษอย่างจริงจังและชัดเจน เพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชันลดจำนวนลงและหมดไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ออกมาตรการต่างๆ อาทิ การปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้เข้าถึงบริการภาครัฐ “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ถูกลง” เพื่อช่วยขจัดปัญหาการทุจริตไปพร้อมๆ กับการให้ความสะดวกแก่ประชาชน

พร้อมกันนี้ การยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางปกครองและวินัย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน หากไม่บังคับใช้ก็ถือว่าเป็นความผิดทางวินัย โดยการชี้มูลของ 3 หน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการสอบสวนเป็นอย่างไรก็จะต้องมีการรายงานเป็นระยะๆ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่ทุกคนต้องกลับมาคิดทบทวนในความบกพร่องทั้งหมดของบ้านเมืองที่ผ่านมา เป็นความรับผิดชอบของทุกคนและทุกฝ่าย ซึ่งประเทศไทยมีระบอบการเลือกตั้งมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนน และเป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ ประชาชนทุกคนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ อีกทั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ก่อให้เกิดความเสียหายไปทั้งหมดทั่วโลก เพราะได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของทุกประเทศด้วย และรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ ได้มีการยกระดับประเทศไทยจากหลายตำแหน่งคะแนน จาก 30 กว่าขึ้นเป็น 35 -38 คะแนน ขึ้นทีละ 4-5 คะแนนไม่ได้ง่าย แต่ทำไมถึงขึ้นในช่วงรัฐบาลนี้ ดังนั้น การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการลงทุนต่างประเทศ ประเทศไทยก็ยกระดับขึ้นทั้งหมด จากที่คะแนนลดลงมาหลายปี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยโดยมีวิสัยทัศน์ มีความคิด ที่พร้อมจะบริหารประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างระบบในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมและการปลูกฝังจิตสำนึกสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ต้องช่วยกันสอนให้เขาได้รู้ว่า การโกงและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ไม่ดีของสังคมไทย และไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้น จึงให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการสอนเพิ่มเติมขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชนไทย อีกทั้ง ประเทศไทยมีประชาชนอยู่หลายระดับของอาชีพและรายได้ ซึ่งมีความคิดที่แตกต่างกันทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการบริหารจัดการที่ดี และจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ตามแนวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือสอนให้คนเอาเบ็ดไปตกปลา ไม่ใช่สอนแบบให้ปลาไปกินพอปลาหมดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ท่านทรงสอนให้รู้จักวิธีตกปลา

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึง ผลการดำเนินงานเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจในระยะแรก จากผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงทิศทางการแก้ไขที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และยังถือว่าดีที่สุด ในรอบ 6 ปี ซึ่งสามารถช่วยให้รัฐบาลลดการสูญเสียเงินไปกับการคอร์รัปชันได้เกือบ 2 แสนล้านบาท และงบประมาณในโครงการต่างๆ ก็ถึงมือประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท / รายงาน

ดวงใจ/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ