นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอและรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่ สศช.เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สำหรับการประชุมปีนี้ จัดขึ้นในช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉลับที่ 11 กำลังจะสิ้นสุดในปี 2559 โดย สศช.กำลังอยู่ระหว่าดำเนินการกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งการประชุมประจำ 2558 ของ สศช. ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้น สศช. จึงกำหนดให้หัวข้อประชุมในปีนี้เป็นเรื่อง “ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)” ทั้งนี้ สศช. ได้เริ่มกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ขึ้น โดยได้ทำการประเมินสถานภาพของประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านธรรมาภิบาล ประเมินบริบทต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อการพัฒนา รวมทั้งสังเคราะห์ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปที่สำคัญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อยกร่างทิศทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในเบื้องต้น เพื่อนำร่างดังกล่าวไประดมความคิดเห็นจากประชาชนในระดับพื้นที่จากทั้ง 4 ภาค ของประเทศ และภาคีพัฒนากลุ่มต่าง ๆ อาทิ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้สูงอายุ เยาวชน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานกลางของภาครัฐในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา จากนั้น สศช.ได้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาประมวลและปรับปรุงเป็นร่างทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 เพื่อนำเสนอในการประชุมประจำปี 2558 ในวันนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งความคิดเห็นต่าง ๆ ในวันนี้ สศช. จะนำไปปรับปรุงร่างทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและนำเสนอต่อคณะกรรมการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อ สศช. จะใช้ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับสมบูรณ์ผ่านกระบวนการมีร่วมจากทุกภาคส่วนก่อนประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12” ที่จะได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีหน้าว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ดังกล่าวจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึง พ.ศ.2564 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบริบทการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพื่อรับมือกับความผันผวนจากภายนอกประเทศ โดยจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่มีความสุขอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างไรก็ตามถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนถึงฉบับที่ 11 แล้ว แต่ก็ยังไม่ทันต่อการพัฒนาของประเทศ ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก เพราะขณะนี้หลายประเทศได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศไทยต้องมีการวางรากฐานให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว รองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้การเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบ เฉพาะนั้นต้องมีการเตรียมแผนรองรับในเรื่องการหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค
ส่วนยุทศาสตร์ประเทศที่จะดำเนินการต่อไปนั้น ขอให้มองไปข้างหน้าอีก 20 ปี เพื่อจะทำให้ประเทศพัฒนามากขึ้นในทุกด้าน ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สร้างการติดต่อเชื่อมโยงภายในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ เตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วันนี้ประเทศไทยต้องแก้ไขทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันก็ไปตามแผนที่กำหนด โดยขณะนี้อยู่ในช่วงที่สองของการบริหารประเทศและกำหนดนโยบายให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ ก่อนส่งต่อรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า การที่เข้ามาบริหารประเทศตรงนี้ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง ข้าราชการ ประชาชน นักการเมือง ร่วมมือในการสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน โดยพิจารณาตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนจากข้อมูลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน การจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) และ (World Economic Forum: WEF) ซึ่งผลการจัดอันดับของ IMD ในปี 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 30 (จาก 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก) ลดลงจากอันดับที่ 29 ในปี 2557 ในขณะที่ผลการจัดอันดับของ WEF ปี 2557 ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 31 (จาก 144 ประเทศ) จากอันดับที่ 37 ในปี 2556 และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ พบว่า ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้อยกว่าในทุกด้าน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน ป้องกันการทำงานที่ซ้ำซ้อน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม
สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีจำนวน 18 โครงการ วงเงินรวม 1.76 ล้านล้านบาท ตรงนี้เป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยรัฐบาลมีการดูแลไม่ให้ตัวเลขเกินหนี้สาธารณะ และอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ทั้งนี้ ในส่วนการขนส่งทางบกรัฐบาลมีแผนการพัฒนาระบบรางในภาพรวม โดยได้เร่งพัฒนารถไฟ 5 เส้นทาง เป็นรถไฟทางคู่ ซึ่งแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน ที่ได้กำหนดแผนการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร จะสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและในประชาคมยุโรป โดยการดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลคำนึงและมีการพิจารณาในการที่สร้างความเท่าเทียมในเรื่องผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการพิจาณาเรื่องความร่วมมือไทยกับต่างประเทศในเรื่องของการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดธุกิจการค้าขายขึ้นมาและประชาชนของประเทศที่ร่วมโครงการนี้ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ อย่างไรก็ตามฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตู้รถไฟพิเศษสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อประชาชนทุกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้เช่นกัน
ด้านการขนส่งทางน้ำ รัฐบาลมีแผนการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากขนส่งทางถนนไปสู่การขนส่งทางน้ำและทางทะเลมากขึ้นทำให้ราคาต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางราง รวมทั้งมีแผนพัฒนาการขนส่งทางอากาศในช่วงปี 2558 – 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดการบิน ตลอดจนพัฒนาระบบอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการการเดินอากาศที่มีศักยภาพ เป็นไปตามมาตรฐานและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินของโลกปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารจราจรทางอากาศแนวใหม่ (Global Air Traffic Management Operational Concept) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และส่งผลให้ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่น ในด้านความปลอดภัยในการให้บริการเดินอากาศของไทย
ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินการของรัฐบาลซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในระยะยาว คือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากพื้นที่การค้าชายแดนหลายแห่งของไทยมีศักยภาพสูงสามารถผลักดันให้เป็นแหล่งผลิตและประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มอาเซียนและภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับระยะแรกจะดำเนินการใน 5 จังหวัด ได้แก่ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว ด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด ด่านปาดังเบซาร์ และด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และระยะต่อไปในปี 2559 จะดำเนินการต่อเนื่องในอีก 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครพนม และจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมในกิจการเฉพาะที่ประเทศไทยต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานในบริเวณพื้นที่ชายแดนเช้าไป-เย็นกลับ และทำให้สามารถป้องกันและลดจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้าไปในบริเวณพื้นที่ภายในของประเทศ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง รัฐบาลได้เร่งผลักดันการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนตามแนวชายแดนโดยการจัดตั้งด่านถาวร การจัดตั้งศูนย์การให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและการประกอบกิจการต่างๆ ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการต้องดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาให้มีศูนย์ Data Center เพื่อให้ข้าราชการประสานปฏิบัติงานโดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน และใช้ในเรื่องความมั่นคง ตลอดจนให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนใช้ได้ตามความเหมาะสม เป็นต้น
ขณะที่เรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประเทศไทยต้องหันกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับแรงงานที่มีศักยภาพที่ประเทศไทยต้องการว่ามีประเภทใดบ้าง เพื่อผลิตแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาประเทศในการที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามการดำเนินการกิจการใดๆ จะใช้เพียงแรงงานต่างด้าวอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางกิจการต้องเป็นคนไทยเท่านั้นที่จะประกอบอาชีพได้ ดังนั้นต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดและกิจการในประเทศโดยมีการปรับเพิ่มรายได้ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับแรงงานที่มีการพัฒนาฝีมือและศักยภาพตนเองขึ้นมาด้วย เพื่อป้องกันแรงงานไทยมีที่ศักยภาพออกไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนที่การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวยังล่าช้าเพราะต้องมีการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
พร้อมทั้ง รัฐบาลได้มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่จะให้เชื่อต่อเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) และเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งของไทยจากท่าเรือแหลมฉบังในภาคตะวันออกไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายเพื่อเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศในฝั่งตะวันตกด้วย เช่น อินเดีย ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิ่งที่ต้องพัฒนาในเรื่องอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้การสนับสนุนคลัสเตอร์เป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ อาหารและเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และไอทีดิจิทัล โดยจะมีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้การลงทุนที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประเทศไทย เช่น ทำให้เกิดเมืองยาง หรือรับเบอร์ชิตี้ เมืองการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศมาตั้งอยู่ในประเทศไทย ฯลฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการศึกษา อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงก่อนเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่อื่นได้รับประโยชน์ต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลมอบนโยบายประกาศให้มีคลัสเตอร์ท่องเที่ยวแล้ว 5 กลุ่มอันได้แก่ คลัสเตอร์ท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา คลัสเตอร์ท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ คลัสเตอร์ท่องเที่ยวทะเลอันดามัน คลัสเตอร์ท่องเที่ยวทะเลฝั่งตะวันออก และคลัสเตอร์ท่องเที่ยวทะเลฝั่งตะวันตก และจะประกาศอีก 3 คลัสเตอร์ภายในปี 2559 ประกอบด้วย คลัสเตอร์ท่องเที่ยวมรดกโลก คลัสเตอร์ท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลัสเตอร์ท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในเชิงพื้นที่บนเป้าหมายของการสร้างงานและสร้างรายได้เพื่อความมั่นคงของคนในท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง เป็นต้น
ส่วนการแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รัฐบาลขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ SMEs มาจดทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้อยู่ในระบบและได้รับการช่วยเหลือการเงินให้มีสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ขณะเดียวกันได้มีการปรับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ซึ่งเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแล SMEs ที่เคยอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลด้วยตนเองเพื่อให้การทำงานช่วยเหลือ SMEs มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรมเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยจะเน้นการขับเคลื่อนจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน เพื่อให้ผลผลิตที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการตลาดและทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการปฏิรูปใน 4 มิติ คือ
1) ด้านการปรับปรุงกฎหมาย มีการจัดทำ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม
2) ด้านระบบจูงใจ มีมาตรการยกเว้นภาษีค่าใช้จ่าย และมาตรการส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมพิเศษ
3) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการดำเนินการต่อไปนี้ (1) จัดตั้งศูนย์บริการ “จุดเดียวครบวงจร” (2) ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของเอกชนในประเทศไทย (3) จัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย (4) ยกระดับ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (5) จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (องค์การมหาชน) และ (6) จัดตั้งเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรม (AIMs Thailand)
4) ด้านกำลังคน จะส่งเสริมบุคลากรภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเอกชน (Talent Mobility) พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) มีการบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) และจัดทำยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy)
ขณะเดียวกัน รัฐบาลตั้งใจจะผลักดันเพื่อพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการปรับลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและบูรณาการบางกิจกรรมที่มีประโยชน์ให้มาอยู่รวมกันเพื่อให้นักเรียนมีเวลามากขึ้นในการที่จะพัฒนาความรู้หรือทักษะอื่นๆ นอกห้องเรียน รวมทั้งการนำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และค่านิยมหลัก 12 ประการ มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยส่งเสริมในเรื่องการศึกษาทางสายวิชาชีพ และภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และภาษาของประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนั้น ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมทุกมิติ รัฐบาลตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ภายใต้เป้าหมายครอบคลุมใน 6 ด้าน คือ น้ำอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรการบำบัดน้ำเสีย การเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการทั้งระบบ ซึ่งตามแผนระยะสั้น ภายในปี 2560 จะต้องมีน้ำประปาใช้ใน 7,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 6.5 แสนไร่ รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th