นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดบีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุน ยกเว้นภาษีเพิ่มอีก 1-2 ปี-อนุมัติส่งเสริมลงทุน 17 โครงการ มูลค่ากว่า 78,000 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday September 16, 2015 15:08 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดบีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อให้เกิดการลงทุนจริงภายในปี 60 โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1-2 ปีตามเงื่อนไข พร้อมออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม-เห็นชอบส่งเสริมการลงทุน 17 โครงการกว่า 78,000 ล้านบาท กลุ่มกิจการอาหารสัตว์-ยางรถยนต์-ก๊าชธรรมชาติ ขยายการลงทุน

วันนี้ (16 ก.ย.58) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แถลงผลการประชุมว่า เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเริ่มดำเนินการเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการขยายตัวดีขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุน ในปี 2558 – 2559 และกำหนดให้มีผลครอบคลุมโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ถึงสิ้นปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการจริงทั้งการผลิตหรือการให้บริการภายในสิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดทำข้อเสนอและหารือร่วมกับประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นพ้องกับการกำหนดมาตรการเร่งรัดการลงทุนดังกล่าว

สำหรับโครงการที่ลงทุนจริงและเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กิจการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี หรือหากเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้น 8 ปีอยู่แล้ว ให้ได้รับลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 5 ปี (ในปีที่ 9-13) 2. กลุ่มกิจการที่ตั้งนอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่าและฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งจากนักลงทุน รายเดิมและรายใหม่ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการกำหนดประเภทคลัสเตอร์และกิจการเป้าหมาย การกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์เป็นพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงบทบาทหน้าที่ในการผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบีโอไอจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป

ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดคลัสเตอร์ต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานของปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง 2. มีการเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม (มีผู้ผลิตต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อุตสาหกรรมสนับสนุน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันเฉพาะทาง หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) 3. มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น จ้างงานหรือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก รวม 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยคลัสเตอร์ 4 กลุ่ม คือ (1) คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน (2) คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม (3) คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) คลัสเตอร์ดิจิทัล ลำดับต่อมาคือคลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ อีก 2 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 17 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 78,181.84 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศรวมมูลค่า 28,887.44 ล้านบาท ประกอบด้วย กิจการในกลุ่มกิจการด้านการเกษตร ได้แก่ โครงการที่ 1-4 บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการจำนวน 4 โครงการ โดยเป็นการผลิตอาหารสัตว์ และอบพืชและไซโล เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,123.54 ล้านบาทประกอบด้วย โครงการที่ 1 ตั้งกิจการอยู่ในพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด เงินลงทุน 2,092.97 ล้านบาท โครงการที่ 2 ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย เงินลงทุน 2,092.97 ล้านบาท โครงการที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เงินลงทุน 1,844.63 ล้านบาท และโครงการที่ 4 ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี เงินลงทุน 2,092.97 ล้านบาท โดยทั้ง 4 โครงการคาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด รำข้าว เป็นต้น มีมูลค่ามากกว่า 21,125 ล้านบาทต่อปี

5.บริษัท อินเทคค์ ฟีด จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตอาหารสัตว์ เช่น อาหารกุ้ง และอาหารปลา เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,985 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โครงการจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ปลาป่น รำสด และมันสำปะหลัง เป็นต้น มูลค่ารวม 1,973.7 ล้านบาทต่อปี

6.บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตอาหารสัตว์ เช่น อาหารไก่ อาหารสุกร และอาหารสัตว์บกอื่น ๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,999 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ข้าวโพด รำข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น มูลค่ากว่า 3,490.4 ล้านบาทต่อปี

7.บริษัท พาเนล พลัส เอ็มดีเอฟ จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MEDIUM DENSITY FIBERBOARD) ชนิดเปลือย และชนิดปิดผิว เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,151.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสงขลา โดยโครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษไม้ยางพารา มูลค่ากว่า 957.1 ล้านบาทต่อปี

8.บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบห้องน้ำผลิตจากดินเผาเคลือบหรือเซรามิกส์ชนิดวิเทรียสไชน่า (VITREOUS CHINA) โดยมุ่งเน้นเครื่องสุขภัณฑ์ที่อยู่ตลาดระดับกลางถึงระดับบน เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,513 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี โครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ดินขาว ในประเทศมูลค่ากว่า 452.5 ล้านบาทต่อปี

9.บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ ปิคอัพ เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,269 ล้านบาท โดยจะลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่สำหรับการส่งออก ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ระบบเบรก ชิ้นส่วนตัวถัง อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

10.บริษัท เออีดี แฟบริเคชั่น จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับงานอุตสาหกรรม เช่น โครงหม้อกำเนิดไอน้ำ และถังรับแรงดัน เป็นต้น โดยจะเป็นส่วนประกอบของหม้อกำเนิดไอน้ำ (BOILER) ขนาดใหญ่สำหรับใช้ในโรงผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และขยะ เป็นต้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,038.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี โครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เหล็กรูปพรรณ เป็นต้น มูลค่ารวมประมาณ 44.7 ล้านบาทต่อปี

11.บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตยางยานพาหนะ และยางผสม เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,750 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง โครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ยางธรรมชาติ มูลค่ารวมประมาณ 844.04 ล้านบาทต่อปี

12.บริษัท ซีเอชพี 1 จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ และไอน้ำ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,983 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี

13.บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมในกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าดำเนินการเครื่องบินใหม่แบบ บอมบาเดียร์ Q400 ความจุผู้โดยสารลำละ 86 ที่นั่ง ระวางบรรทุกสินค้า 1 ตัน /ลำ จำนวน 8 ลำ เป็นระยะเวลา 8 ปี เพื่อให้บริการขนส่งทางอากาศ แบบประจำเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเส้นทางเป็นครั้งคราว เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,752.8 ล้านบาท

14.บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเป็นการเช่าดำเนินการเครื่องบินใหม่แบบ Airbus A 330 จำนวน 6 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 377 ที่นั่ง ระวางบรรทุกสินค้า 15 ตัน/ลำ/เที่ยวบิน เป็นระยะเวลา 8 ปี เพื่อให้บริการขนส่งทางอากาศ แบบประจำเส้นทางระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเส้นทางเป็นครั้งคราว เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,700 ล้านบาท

15. บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เงินลงทุน 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมา

16. บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เงินลงทุน 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมา

17.บริษัทกัลฟ์ เอ็นซี จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,426 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ