วันนี้ (ศุกร์ 18 กันยายน 2558) พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในโอกาสที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน -1 ตุลาคม 2558 ถึงความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีที่จะนำเสนอแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดคล้องกับ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามแนวคิดหลักของวาระการพัฒนาของสหประชาชาติ ภายหลังปี ค.ศ. 2015 (post2015 Development Agenda) ซึ่งไทยได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเป็นหลักการในการพัฒนาประเทศได้จริง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลยังนำแนวคิดพระราชทานแปรเป็นเป้าหมายนโยบายบริหารประเทศ “มั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน”โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับวาระการพัฒนาของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้นำทั่วโลกจะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติเพื่อรองรับวาระการพัฒนาดังกล่าว
โดย “วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015" นั้น สหประชาชาติกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ
เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน 17 ประการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงโภชนาการและสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย เป้าหมายที่ 4สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง เป้าหมายที่ 6สร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ และมีการบริหารจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 7สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม และการจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความปลอดภัย ความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้มหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอื่นๆ อย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งการเสื่อมโทรมของดินและฟื้นฟูสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 16 สนับสนุนสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ และเป้าหมายที่ 17เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทนำและสามารถผลักดันแนวคิดการพัฒนาได้ในเวทีสหประชาชาติ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนำเสนอ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริ เป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจน การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความเสี่ยงและบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ
ในตอนท้าย รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลในการสร้าง “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” โดยหลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน เป็นเป้าหมายหลัก โดยน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างและพัฒนาคนให้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ไทยมีความพร้อมดำเนินการตามเป้าหมาย “วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015" ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th