วันนี้ (22 ก.ย.58) เวลา 14.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภเกี่ยวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ต้องการให้มองไปถึงเรื่องของผลลัพธ์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูปส่วนราชการและปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำอย่างไรให้เกิดความสามัคคีปรองดองและแก้ไขปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีกในอนาคต เพราะฉะนั้นอย่าเพ็งเล็งเฉพาะว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่จะผ่านหรือไม่เท่านั้น ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็จะเดินต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนเข้าใจจุดมุ่งหมายร่วมกันดังกล่าวแล้วก็ขอให้มั่นใจว่านายกรัฐมนนตรีจะพิจารณาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (21คน) และสมาชิก สปท. (ไม่เกิน 200 คน) อย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด โดยยึดประโยชน์ของประเทศและการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองไม่ให้ซ้ำรอยในอดีตเป็นที่ตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี เข้าใจถึงความรู้สึกและเจตนารมณ์ของประชาชนทุกภาคส่วนที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มผู้เห็นต่าง ข้าราชการ และภาคเกษตร เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลานี้ซึ่งยังมีเวลาก่อนครบวันกำหนดแต่งตั้งภายใน 30 วัน (วันที่ 5 ตุลาคม 2558) นายกรัฐมนตรี ที่จะพิจารณารายชื่อของบุคคลที่ถูกเสนอเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (21คน) และสมาชิก สปท. ให้ถ้วนทั่วและหารือร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งต่อไป
สำหรับเรื่องการระบายข้าวในสต็อก โดยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ตลอดระยะเวลา 427 วัน ที่ดำเนินการเรื่องข้าวสรุปได้ว่า มีข้าวค้างสต็อกในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา 18.7 ล้านตัน โดยมีทั้งข้าวดีและข้าวเสียปนกัน และมีคณะกรรมการตรวจสอบระดับต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งข้าวดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 คือ ข้าวกลุ่มE ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน กลุ่มที่2 คือข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แบ่งออกเป็นเกรดA เกรดB เกรดC ซึ่งในเกรดA มีคุณภาพต่ำเล็กน้อย ตลาดยอมรับได้ และปรับปรุงคุณภาพได้ก็สามารถจำหน่ายในราคาที่ดีพอสมควร ข้าวเกรดB คือ ข้าวที่ตลาดพอรับได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการใช้งบประมาณในพัฒนาปรับปรุงเพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค และเกรดC เป็นเกรดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ใช้งบประมาณในการพัฒนาปรับปรุงก็คงไม่คุ้มแต่จะนำไปพัฒนาใช้เป็นวัตถุดิบทางด้านอุตสาหกรรมได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือข้าวเสีย ซึ่งไม่สามารถใช้บริโภคทั้งคนและสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ ได้ลองทดสอบกับ 2 โกดัง ปรากฏว่าใช้เวลานานมากในการที่จะแยกข้าวดีออกจากข้าวเสีย เพราะฉะนั้นข้าวที่มีอยู่จำนวนประมาณ 18.7 ล้านตัน คงต้องใช้เวลาที่นานมากพอสมควร ซึ่งตรงนี้จะใช้ระยะเวลาตามที่ได้เคยกราบเรียนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 1 เดือน ประมาณเดือนตุลคมหรืออาจเลยไปเล็กน้อย โดยจะใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่ขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่จะทำได้เพื่อสำรวจคลังโกดังที่มีอยู่ทั้งหมด เมื่อได้ข้อมูลสรุปเรียบร้อยแล้วจะนำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งว่าจะระบายข้าวดังกล่าวออกไปในลักษณะอย่างไร แต่ยืนยันจะนำข้าวเสียมาปนกับข้าวดีเพื่อให้ตลาดหรือผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าวก็มีการดำเนินการอย่างเข้มข้น และจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาประมูลแข่งขันรับซื้อข้าวในส่วนที่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างโปร่งใส และสามารถที่จะตรวจสอบได้
สำหรับการการระบายข้าวนั้น ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นสามารถระบายข้าวออกไปได้แล้ว 4.3 ล้านตัน จากเดิมที่มีอยู่ 18.7 ล้านตัน
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้มารายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของ EGA โดยจุดประสงค์ของนายกรัฐมนตรี คือรัฐบาลนี้พยายามที่จะสนับสนุนข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการติดต่อกับระบบราชการให้ประชาชนได้รับทราบและเป็นไปด้วยความสะดวก โดยสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ทั้งการเข้าผ่านเว็บไซต์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือโหลดแอพพลิเคชั่น ตลอดจนการใช้ตู้บริการข้อมูล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนายกรัฐมนตรี พยายามที่จะนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต่อภาคประชาชน โดยหวังว่าลูกหลานที่เป็นคนสมัยใหม่จะสามารถเข้าดูข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำไปบอกเล่าให้ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ฟัง หรือข้าราชการซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดสามารถนำข้อมูลที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตนเองไปบอกต่อประชาชนได้ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม จะต้องพัฒนาให้สามารถหาข้อมูลและตอบคำถามกับประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้เช่นกัน เช่น การรับเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ที่ตอบคำถามสามารถสืบค้นหาข้อมูลจากศูนย์บริการข้อมูลเหล่านี้เพื่อตอบให้ประชาชนรับทราบได้
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ของประเทศแต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีที่จะต้องตามให้ทัน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้สิ่งสำคัญของการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวคือทำให้เกิดความง่ายและสะดวกในการที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ ส่วนอะไรที่ยังมีความยากซับซ้อนจะต้องมีการพัฒนาให้ง่าย อีกทั้งในส่วนของข้อมูลกระทรวงใดที่ยังไม่มีความพร้อมก็ขอให้แต่ละกระทรวงเร่งรัดนำข้อมูลเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางข้อมูลและการบริการภาครัฐสำหรับประชาชนให้ได้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด
ส่วนเรื่องของนโยบายของภาครัฐที่รัฐบาลสนับสนุนจะให้ลดเวลาในการเรียนในห้องเรียนลงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงว่าเป็นการลดเวลาเรียน และเพิ่มเวลารู้ คือเป็นการเรียนตอนเช้าจนถึงเวลา 14.00 น. หลังจากนั้นไม่ได้ปล่อยให้เด็กกลับบ้านเพื่อไปเป็นภาระของผู้ปกครองตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกัน แต่จะเป็นการเสริมทักษะให้กับเด็ก ซึ่งในหลักการ “การลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้” จะต้องทำ 4 เรื่อง คือ 1) เรื่องหลักสูตร จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรในรายละเอียด 2) กระบวนการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา 3) การวัดและประเมินผล และ4) การทบทวนหลังการปฏิบัติ
ขณะเดียวกันในส่วนของหลักสูตร“การลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้” จะมีการดำเนินการปรับปรุงเนื้อหาภายในแต่ละวิชา โดยไม่กระทบต่อดัชนีชี้วัดในเรื่องของการประเมินผล รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งนี้เวลาเรียนในห้องเรียนของระดับประถมศึกษาประมาณ 30-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหากปรับใหม่จะเหลือเวลาเรียนในห้องเรียน 22 สัปดาห์ โดยมีสาระสำคัญที่จำเป็นในการเรียนยังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ 840 ชั่วโมง แต่ระยะเวลาเรียนโดยรวมจะลดน้อยลง เพื่อนำเวลาที่เหลืออีก 8 – 13 ชั่วโมงไปทำกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
ส่วนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มสาระ 8 เรื่อง ระยะเวลาเรียนเท่าเดิม 880 ชั่วโมง แต่การเรียนจริงในห้องเรียนจะลดลงจาก 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เหลือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สำหรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาจะแบ่งออกเป็นสถานศึกษาที่เป็นสังกัดด้านประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับครู รูปแบบ และวิธีการจัดการเรียนรู้ ส่วนจำนวนโรงเรียนที่ดำเนินการขณะนี้ จะเป็นโรงเรียนของรัฐทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงเรียนเอกชนนั้น จากที่ได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวาน(21ก.ย.58) ปรากฏว่ามีสัญญาณตอบรับที่ดีและโรงเรียนเอกชนให้ความสนใจ ซึ่งหลายโรงเรียนของเอกชนก็ได้มีการดำเนินการในแนวทางลักษณะใกล้เคียงเช่นนี้อยู่แล้ว และเห็นชอบกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดไว้ต้องการให้มีการลดเวลาเรียนในห้องเรียนลง ซึ่งตรงนี้อยู่ในระหว่างของการหารือในรายละเอียดต่อไป
ขณะเดียวกันในเรื่องของครูก็จะมีการจัด workshop ใน 5 – 6 พื้นที่ ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย และมีการสร้าง Smart trainer คือคนที่มีความรู้ความสามารถไปฝึกอบรมครูเพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้ครู ได้มีความรู้ความสามารถและเข้าใจในรายละเลียดของการปฏิบัติ
นอกจากนี้ที่ประชุมครม. ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำวันนี้ในเบื้องต้น โดยใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำแม่กลองมี 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อื่นของประเทศ มีปริมารน้ำ ประมาณ 7,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่อื่นนอกจากบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองนั้น ยังไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะยังอยู่ในช่วงที่ฝนตก แต่ในอนาคตพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำคาดว่าคงจะเป็นพื้นที่เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ 10.7 ล้านไร่ มีจำนวนเกษตรกร ประมาณ 476,000 ครัวเรือน โดยขณะนี้จากการประเมินสถานการณ์น้ำพบว่าคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง และกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีฝนตกในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในเขื่อนหลักต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เดิมที่เคยคิดว่าจะต้องมีมาตรการออกมาในเรื่องของการงดส่งน้ำ หรือห้ามในเรื่องต่าง ๆ และมีมาตรการช่วยเหลือออกมานั้น ณ วันนี้จึงไม่ได้ให้มีการงดสนับสนุนน้ำในการทำการเกษตร เพราะสถานการณ์น้ำคงต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่องในแต่ละสัปดาห์ เนื่องจากสถาการณ์น้ำตรงนี้อาจจะมีการพัฒนาดีขึ้นโดยลำดับ เพราะนอกจากสถานการณ์ฝนตกที่กรมอุตุนิยมรายงานแล้ว ทีมฝนหลวงอีก 9 ทีมก็ยังมีการดำเนินการในเรื่องการทำฝนหลวงในพื้นที่ที่สามารถจะทำให้ฝนตกในบริเวณพื้นที่แอ่งรับน้ำที่จะไหลลงสู่เขื่อนโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดจากพายุดีเปรสชันหว่ามก๋อ
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ไม่ได้ออกมาตรการงดสนับสนุนน้ำแก่เกษตรกร แต่ก็ได้มีการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ ประกอบด้วย จำนวน 8 มาตรการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8) การสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556
ที่มา: http://www.thaigov.go.th