พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งการออกสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน การค้ำประกันสินเชื่อ และการลดภาษีเพื่อให้ SME ฟื้นตัวกลับมาเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ และขอรับการสนับสนุนทางการเงินตามมาตรการภาครัฐจำนวนมาก ผ่านการขึ้นทะเบียนทาง เว็บไซต์ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) (www.sme.go.th) ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร สายด่วน 1301 ของ สสว. รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 55,126 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 34,779 ราย และไม่ใช่นิติบุคคล 20,347 ราย
“รัฐบาล ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียน เพราะนอกจากแพคเกจของภาครัฐแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การให้เงินอุดหนุน การให้คำปรึกษา การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาการตลาด ข้อมูลข่าวสารการสนับสนุน SME เป็นต้น รวมถึงรัฐบาล จะได้ทราบถึงข้อมูลการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคปัญหาต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูล สำหรับการวางนโยบายช่วยเหลือได้ถูกต้อง ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางด้านภาษี หรือหน่วยงานด้านภาษีตามที่กังวล”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือ SME จำนวน 5 มาตรการ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี ยื่นได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558 รวมถึงโครงการค้ำประกันเงินกู้ให้ SME ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับ SME ทำให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นใจ ในการปล่อยสินเชื่อ ถ้าเกิดความเสียหายทาง บสย.จะช่วยชดเชยให้
ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการร่วมลงทุนกับ SME ที่มีศักยภาพ ในระยะเริ่มต้น (Start-up) โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทย แห่งละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท และ มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME ที่มีกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน และ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบบัญชี ใน SME เป้าหมาย อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ฯลฯ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th