การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาทุจริต ของ สกสค.-องค์การค้าฯ-คุรุสภา

ข่าวทั่วไป Thursday August 27, 2015 15:29 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมกับผู้บริหารเลขาธิการ สกสค. - คุรุสภา - องค์การค้าของ สกสค. เพื่อติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหน่วยงานดังกล่าว ภายหลัง คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในหน่วยงานดังกล่าว

เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ ห้องประชุม MOC กระทรวงศึกษาธิการ :

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และนายกมล ศิริบรรณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ 3 หน่วยงานดังกล่าวประสบปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสหลายเรื่อง คือ 1) สกสค. ที่มีปัญหาถูกร้องเรียนทุจริตคอร์รัปชัน มีการออกระเบียบโดยมิชอบ มีการอนุมัติเงินกองทุน ช.พ.ค.กว่า 2 พันล้านบาทไปร่วมลงทุนทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยไม่ถูกต้องและปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาทุจริตการก่อสร้างโรงแรมครูที่เชียงใหม่ 500 ล้าน 2) องค์การค้าของ สกสค. เป็นหน่วยงานที่มีการขาดทุนต่อเนื่องมาทุกปี เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้มียอดขาดทุนรวมทั้งสิ้น 4,657 ล้านบาท สาเหตุหลักๆ เช่น ขายของไม่ได้ ขาดทุนจนมีหนี้สินสะสมต่อเนื่องจำนวนมาก การทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงาน มีรายจ่ายด้านบุคคลจำนวนมาก มีการจัดซื้อจัดจ้างเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนที่ล่าช้าและมีราคาสูงกว่าราคากลางมาก การรับฝากขายหนังสือจากบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง หนังสือเรียนสูญหาย เป็นต้น 3) คุรุสภา ซึ่งมีปัญหาการเรียกรับเงินจากผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคุรุสภา และการตั้งคณะอนุกรรมการจำนวนมากเพื่อรับเบี้ยประชุม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 หน่วยงานดังกล่าว โดยกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด รวมทั้งแต่งตั้งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 3 ท่านไปปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อแก้ไขปัญหาในหน่วยงานดังกล่าว และได้มาให้ข้อมูลการทำงานช่วงที่ผ่านมา (เมษายน 2558 - ปัจจุบัน) ดังนี้

สกสค. - ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธาน สกสค. ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ จนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมาก แต่การนำมาตรา 44 มาใช้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยการให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ และให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ สกสค. ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด ยิ่งทำให้เห็นหลักฐานต่างๆ ตามที่มีข้อร้องเรียนมากขึ้น ซึ่งจากนี้ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายของตนเข้าไปช่วยประสานการทำงานร่วมกันอีกทางหนึ่ง เพื่อให้มีหลักฐานต่างๆ ชัดเจน และสามารถเอาผิดผู้กระทำการทุจริตได้โดยเร็ว

องค์การค้าของ สกสค. - เมื่อใช้มาตรา 44 ได้แต่งตั้งให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา ทำให้ช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาสามารถลดรายจ่ายองค์การค้าฯ ได้ เพราะมีการจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาองค์การค้าฯ หลายเรื่อง เช่น การไม่ต่อสัญญารถเช่า ไม่ต่อสัญญาลูกจ้างรายปี 142 คน จากจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น 2,203 คน พร้อมทั้งสั่งให้ทำแผนลดรายจ่ายทุกหน่วยงานให้ลดลง 10% รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ตลอดจนตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและลงโทษทางวินัยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งเร็วๆ นี้จะมีการเสนอให้บอร์ดองค์การค้าฯ ประเมินผลการปฏิบัติงานอดีตผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนว่าจะผ่านการประเมินและสมควรจะจ้างต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ ตนได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาองค์การค้าฯ ควรต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบว่าตรงไหนมีช่องว่างในการบริหารจัดการ หรือช่องว่างส่วนใดที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้ จึงอาจจะต้องมีการแก้ไขหรือเพิ่มระเบียบการปฏิบัติงานขึ้นมาใหม่ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

คุรุสภา - การนำมาตรา 44 มาใช้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหา โดยการยุบรวมคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ในคุรุสภาที่มีอยู่จำนวนมากลดลงจาก 37 ชุด เหลือเพียง 11 ชุด เพราะที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมในแต่ละคณะอนุกรรมการมากเกินไปในแต่ละเดือน รวมทั้งมีการแก้ไขปัญหาการเข้าสู่วิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ การกระจายการบริหารงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ ซึ่งจะนัดให้มีการประชุมหารือในเรื่องนี้เร็วๆ นี้ด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ