รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2558

ข่าวทั่วไป Friday August 28, 2015 15:41 —สำนักโฆษก

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเปราะบาง โดยการใช้จ่ายรัฐบาลและการท่องเที่ยวยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกและรายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเปราะบาง โดยการใช้จ่ายรัฐบาลและการท่องเที่ยวยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกและรายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2558 มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในภาพรวมในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี จากการหดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่หดตัวที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ขณะที่ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค แม้ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี แต่หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนหน้าหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.5 ต่อเดือน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนชะลอลงต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -23.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตชนบท ตามรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -14.6 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมยังคงปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 62.6 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง

การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2558 มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่กลับมาหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี แต่อย่างไรก็ดี ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี และ 4.6 ต่อเดือน เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการรับมรดก สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ พบว่ายังคงหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.2 ต่อเดือน สำหรับปริมาณนำเข้าสินทุนกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -22.1 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือรถไฟพบว่าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 221.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 208.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 186.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 22.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 141.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2558 จำนวน -81.4 พันล้านบาท

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ -3.6 ต่อปี จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ยังคงหดตัว โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล พบว่า การส่งออกสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อเดือน จากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาฟื้นตัว และการส่งออกไปยังตลาด สหรัฐ ทวีปออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ กลับฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่ม CLMV ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานยังคงได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวน 2.64 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากทุกกลุ่มภูมิภาค โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน และมาเลเซีย เป็นหลัก ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผล เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 (ข้อมูลเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี แต่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล โดยผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวหลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ โทรทัศน์ ขณะที่อุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และอาหาร เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 83.0 โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 156.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า ซึ่งสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

เอกสารแนบ

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2558

          “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเปราะบาง โดยการใช้จ่ายรัฐบาลและการท่องเที่ยวยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกและรายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานและ                        อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2558 มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช่จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมในเดือนกรกฎาคม 2558 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2558 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -23.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตชนบท ที่หดตัวร้อยละ -20.5 และ -24.0 ต่อปี ตามผลของรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -14.6 ต่อปี ทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคออกไป กอปรกับการเร่งบริโภครถจักรยานยนต์ไปแล้วในเดือนก่อนหน้าจากการส่งเสริมการขายของผู้จัดจำหน่าย ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -25.1 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 62.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากการส่งออกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนชะลอลง นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี

การบริโภคภาคเอกชนรายภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยรวมยังชะลอตัว แม้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายบางภูมิภาคขยายตัวในอัตราเร่ง ได้แก่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ แต่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก กลับชะลอลงมาก ประกอบกับการบริโภคสินค้าคงทนที่สะท้อนผ่านจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรในบางภูมิภาคหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง และสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดระดับลงต่อเนื่องทุกภูมิภาคเช่นกัน

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2558 มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2558 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.8 และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อเดือน ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อเดือน สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกรกฎาคม 2558 กลับมาหดตัวลงที่ร้อยละ -22.1 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือรถไฟ พบว่า หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชนรายภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านจำนวนรถบรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ยังคงหดตัวต่อเนื่องทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมแม้จะหดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อน แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลง โดยได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนในภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการหดตัวในอัตราที่น้อยลงของ กทม. และปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยประเภทอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตพลังงานทดแทน การผลิตอาหาร และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์

3. สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2558 การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 221.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 208.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 186.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 22.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 141.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี โดยมีรายการที่สำคัญ คือ (1) ภาษีฐานรายได้ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ต่อปี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.3 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวน -81.4 พันล้านบาท

4. การส่งออกสินค้าในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 18.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อเดือน จากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบ ที่กลับมาฟื้นตัวที่ร้อยละ 4.1 และการส่งออกไปยังตลาด สหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ กลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง ที่ร้อยละ 1.4 21.4 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับกลุ่ม CLMV ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.6 ต่อปี ในขณะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักยังคงหดตัว โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป หดตัวที่ร้อยละ -1.6 -9.7 และ -1.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก ทำให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ยังมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และน้ำตาล รวมถึงการใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น จึงทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากและมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และทำให้ความต้องการซื้อสินค้าไทยลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่มีมูลค่าสูงกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม 2558 เกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 2.64 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 39.4 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะจีน และมาเลเซีย เป็นหลัก ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผล เป็นสำคัญ ทั้งกลุ่มธัญพืช กลุ่มไม้ผล และกลุ่มพืชน้ำมัน โดยเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิต สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 (ข้อมูลเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน โดยผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวหลักๆ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ โทรทัศน์ การปั่น การทอ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ยังมีอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และอาหาร เป็นต้น ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากสาขาการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งสิ้น 22.7 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อปี มีรายได้จากการเยี่ยมเยือน 124.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.4 ต่อปี เป็นการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ภาคใต้ และภาคเหนือ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 38.7 31.1 และ 51.3 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ผลผลิตภาคเกษตรกรรมรายภูมิภาคยังคงลดลงทุกภูมิภาคตามผลผลิตข้าวเปลือกเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวได้ในภาคตะออกและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากราคาผลไม้ที่สูงขึ้น ในด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาคยังคงหดตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาคตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดระดับลงทุกภูมิภาคเช่นกัน

6. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 156.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ