ควรผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศและอาเซียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าในการวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 จะต้องเข้าใจโจทย์ปัญหาของการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ตรงกันก่อน เพื่อวางแผนจัดทำแผนเพื่อนำไปแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายการอุดมศึกษาเช่นกันว่า ควรผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ
แต่เมื่อถามถึงตัวเลขด้านความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศนั้น เรามีหรือยัง คำตอบคือส่วนใหญ่ในหลายหน่วยงานยังหาไม่เจอ เพราะมีแต่ตัวเลขที่ใช้ในการประมาณๆ เอา แม้ข้อมูลที่เรามีอยู่ในขณะนี้จะพออนุมานได้ อาจจะตรงสัก 60-70% ก็ยังพอสามารถนำมาใช้ก่อนได้ ข้อมูลจึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการวางแผนให้ตรงกับความต้องการ เช่น ตัวเลขนักศึกษาที่ตกงานอยู่ เราจะเก็บข้อมูลไว้เพียงปีเดียว เกินกว่านั้นข้อมูลก็หลุดไป ดังนั้นตนจึงให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลมาก เพราะจะนำมาซึ่งการวางแผนและทำงานได้ตรงประเด็น
นอกจากนี้ การวางแผนนอกจากจะต้องคำนึงถึงความต้องการในการพัฒนาประเทศแล้ว ในอนาคตจะต้องคำนึงถึงความต้องการของอาเซียนด้วย เพราะจะส่งผลประโยชน์โดยตรงทั้งต่อประเทศและอาเซียน
ควรวางแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒน์ฯ ของประเทศ
คำถามคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา เคยมีใครเดินตามแผนนี้บ้าง รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเดินตามแผนนี้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะหากเราไม่เดินตามแผนพัฒน์ฯ ของประเทศ ก็จะทำให้การวางแผนไม่นิ่ง แกว่ง ทิศทางต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ส่งผลให้การวางแผนเพื่อผลิตบัณฑิตผิดพลาดด้วย
ย้ำให้มหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชนเดินตามแผนระยะยาวอุดมศึกษาร่วมกัน
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการวางแผน คือ แผนนี้ต้องปฏิบัติได้จริง และต้องมีดาบอะไรอยู่ในแผนบ้าง เพราะถ้าไม่มีดาบ แล้วใครจะไปเดินตาม สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่คิดในใจ เพราะคิดว่าเมื่อกำหนดแผนระยะยาว 15 ปีมาใช้แล้ว สามารถบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะการบริหารงานของแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้นกับสภามหาวิทยาลัยนั้นๆ และหากไม่ทำตามแผน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือรัฐมนตรีมีอำนาจอะไรไปก้าวล่วง จึงคิดว่าหากมหาวิทยาลัยไม่ทำตามแผนแล้วจะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นจึงต้องการให้ทุกมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเดินตามแผนระยะยาวฉบับนี้ เพื่อทุกฝ่าย win-win หมดเวลาแล้วที่จะต่างคนต่างเดิน
ทั้งนี้ ตนกลับมานั่งนึกว่าบางมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศรับนิสิตนักศึกษา เอาปัจจัยอะไรมากำหนดตัวเลข ซึ่งคำตอบที่ได้คร่าวๆ คือ นำเอาขีดความสามารถของที่นั่งเรียนมากำหนดตัวเลขประกาศรับผู้เรียน ส่วนปัจจัยการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนในคณะสาขาวิชาต่างๆ มีปัจจัยที่นำมากำหนดคือ การตลาด
ดังนั้น การจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีเพื่อผลิตสาขาต่างๆ หากมหาวิทยาลัยไม่ทำตามก็จะกลับไปเหมือนเดิม จึงต้องมีมาตรการต่างๆ เดินไปด้วยกันตามแผนระยะยาวที่เราเห็นพ้องต้องกันในครั้งนี้ ซึ่งจะได้นำเข้าที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาพิจารณาต่อไป
อาจนำ "ตารางประสานสอดคล้อง" มาใช้ในการวางแผนทำงานร่วมกัน
แม้ตนไม่ใช่นักการศึกษาอาชีพ แต่ก็มีความรู้เรื่องแผน ซึ่งแผนที่ดีต้องมีการกำกับติดตามดูแลแผนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เช่น อาจจะกำกับติดตามด้วยระบบ Taskforce หรือโดยหน่วยงานในกำกับที่จะต้องคำนึงถึง Stakeholder เกี่ยวกับแผนนั้นๆ ว่ามีใครบ้าง
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ยกตัวอย่างการวางแผนของวงการทหารที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ คือ "ตารางประสานสอดคล้อง" ซึ่งจะใช้ในการจัดทำแผนที่ทำงานกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างชัดเจน เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน ราย 6 เดือน ราย 9 เดือน จนถึงความสำเร็จในการเดินตามแผนได้ เพราะตารางนี้จะแสดงถึง Task แต่ละงานในช่องซ้ายมือ ส่วนตารางในช่องขวามือจะแสดงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บาง Task อาจจะมีถึง 10 หน่วยงาน แต่บาง Task อาจจะมี 3 หน่วยงาน ก็จะช่วยให้การกำกับดูแลควบคุมการดำเนินงานตามแผนได้ ย้ำว่าการจัดทำแผนต้องทำได้จริง เราหมดเวลาที่จะทำแผนแบบลอยลม
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมกันทำแผนการอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีในครั้งนี้ รวมทั้งวิทยากรทุกท่านที่จะมาให้ความรู้ เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และทุกท่านในการประชุมครั้งนี้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th