อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้งร้อยละ 6.1 หลังจากมีการปรับเปลี่ยนรุ่น ส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรรม (MPI) หดตัวน้อยลง โดยเดือนกรกฎาคม 2558 MPI หดตัวร้อยละ 5 สอดคล้องกับการผลิตของหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มี MPI ติดลบในบางช่วงเวลาขณะที่ MPI มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวในระดับต่ำ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) 7 เดือนแรก ปี 2558 หดตัวร้อยละ 2.9 แต่เป็นการหดตัวต่ำกว่าหลายประเทศ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2558 MPI หดตัวร้อยละ 5.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ HDD โทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้งร้อยละ 6.1 รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้ร้อยละ 1.7
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมถึงมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยังปรับตัวลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ที่ขยายตัวได้ในเดือนนี้ช่วยให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอลง
ภาพรวม 7 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) หดตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่การส่งออกสินค้าไทยในช่วงม.ค.-ก.ค.58 หดตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทย โดยเมื่อพิจารณาจะพบว่าขนาดของการหดตัวของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศ
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 165,863 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.60 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 60,863 คัน ลดลง ร้อยละ 11.58 การส่งออกรถยนต์มีจำนวน 102,359 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.30 โดยการส่งออกรถยนต์นั่ง มีจำนวน 44,876 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ31.33 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีจำนวน 57,483 คัน ลดลงร้อยละ 0.22 โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลางและยุโรป
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวม กรกฎาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.96 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.70 18.60 และ 4.87 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.38 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 3.25 2.22 9.21 0.73 และ 81.68 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้านั้น การบริโภคเหล็กของไทยเดือนกรกฎาคมปี 2558 มีปริมาณ 1.08 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 10.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.42 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 6.67 การส่งออกมีมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.04 สำหรับการนำเข้า 606 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 11.53 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่
ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนการผลิตที่ลดลงแทบทุกชนิด เช่น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมผัก- ผลไม้กระป๋องประสบปัญหาภัยแล้งทำให้มีวัตถุดิบในการผลิตลดลง รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งมีการหยุดเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร แต่ในส่วนของเหล็กแผ่นรีดเย็น มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการวางแผนการผลิตเพื่อบริหารสินค้าคงคลังโดยการเพิ่มการผลิตหลังจากที่ได้ลดการผลิตลงในช่วงที่ผ่านมาก สำหรับเหล็กทรงยาว การผลิตลดลงแทบทุกผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง เหล็กเส้นข้ออ้อย เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังคงชะลอตัว
ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 5.91 8.33 และ 4.50 ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนในผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ การปิดกิจการของโรงงานทอผ้าในประเทศ ส่งผลให้การผลิตผ้าผืนลดลงประกอบกับผู้ใช้นิยมนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายสำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
การส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ร้อยละ 5.05 จากการลดลงในตลาดคู่ค้า ได้แก่เวียดนาม จีน และอินเดีย ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 10.61 ในตลาดอาเซียนได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 13.10 จากคำสั่งซื้อในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อาเซียน และญี่ปุ่นลดลง
สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.7 เนื่องจากการผลิตสินค้าปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก และการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีทิศทางเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำตาลและสินค้าประมง แต่สินค้าผักผลไม้ปรับตัวลดลงมาก มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.2 จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป และปัญหาภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ซบเซาขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
ภารกิจใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมาจากทิศทางและนโยบายของรัฐบาล หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และหาทางยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในชนบท ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลเชิงบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th