“พลเอกฉัตรชัย” มอบนโยบายกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งแผนรับมือก่อนเข้าช่วงแล้งให้แล้วเสร็จก่อนตุลานี้ หลังประเมินสถานการณ์น้ำฤดูแล้งน่าห่วง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2015 15:21 —สำนักโฆษก

“พลเอกฉัตรชัย” มอบนโยบายกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งแผนรับมือก่อนเข้าช่วงแล้งให้แล้วเสร็จก่อนตุลานี้ หลังประเมินสถานการณ์น้ำฤดูแล้งน่าห่วง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการทำงานให้กับกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ว่า จากที่ได้รับฟังสรุปแผนงานโครงการของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร แล้วก็เชื่อมั่นว่าทั้งสองหน่วยงานมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร แต่สิ่งที่ได้เน้นย้ำให้เร่งดำเนินการคือ ทั้งสองหน่วยงานจะต้องเป็นแม่งานหลักบูรณการทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงการบูรณาการทุกหน่วยงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติให้ชัดเจนถ้าฝนตกไม่เพียงพอที่จะเก็บกักเพื่อใช้ในแล้งหน้า จะมีทางเลือกในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างไร ไม่ใช้เพียงการประกาศว่าไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อจัดสรรเท่านั้น ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ และแจ้งไปยังระดับพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า ปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 สิงหาคม 2558 มีปริมาณฝนรวม 827.8 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 17 จึงทำให้มีน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ในปริมาณน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 34,959 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด แต่มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 11,456 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด
อย่างไรก็ตามในส่วนของการทำนาปีที่กรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการปลูกข้าวออกไปนั้น ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำนาตามปกติแล้ว โดยได้กำหนดพื้นที่ทำนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศไว้ประมาณ 15.79 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวไปแล้ว 12.82 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.97 ล้านไร่ และได้มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 1.20 ล้านไร่ มีนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งที่ผ่านมาจำนวน 22,079 ไร่ สำหรับลุ่มเจ้าพระยานั้น กำหนดพื้นที่ทำนาปี 7.45 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.10 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.13 ล้านไร่ เสียหายจากภาวะภัยแล้ง 21,460 ไร่ ทั้งนี้กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว อย่าเพิ่งทำนาต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปี มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าว
ส่วนแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 นั้น ในพื้นที่ชลประทานที่มีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว ให้คณะกรรมการรจัดการชลประทาน(JMC) ในแต่ละพื้นที่วางแผนการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดว่า หลังจากสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้รวมกันประมาณ 3,677 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จำนวน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้มีน้ำเหลือเพียง 177 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และวางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้งานได้ จาก เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2559 รวมกันประมาณ 4,765 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงต้นฤดูฝนเดือนกรกฏาคม 2559 จำนวน 2,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เพื่อการเกษตร ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้งต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และวางมาตรการที่เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ