กระทรวงวิทย์ฯ พร้อมเสริมทัพขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลัง “สมคิด” ดึงร่วมทีม

ข่าวทั่วไป Thursday September 3, 2015 15:31 —สำนักโฆษก

“พิเชฐ” ชูใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เน้นช่วยเกษตรกร จับโอท็อปใส่สูท ติดเขี้ยวเล็บเอสเอ็มอี เสริมแกร่งแข่งได้ในตลาดโลก เร่งพัฒนากำลังคนด้าน วทน. หวังเป็นข้อต่อทุกกระทรวง ชี้เศรษฐกิจเดินได้ต้องอาศัยอินโนเวชั่น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณี รัฐบาลปรับกลุ่มการทำงาน โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายใต้การดูแลของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นที่น่ายินดีที่ท่านนายกรัฐมนตรี เพิ่มความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้กระทรวงต่าง ๆ โดยมุ่งเป้าให้บริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น สอดรับกับนโยบายพัฒนากำลังคนด้าน วทน. เพื่อให้การพัฒนาฯ เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณี รัฐบาลปรับกลุ่มการทำงาน โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายใต้การดูแลของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นที่น่ายินดีที่ท่านนายกรัฐมนตรี เพิ่มความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้กระทรวงต่าง ๆ โดยมุ่งเป้าให้บริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น สอดรับกับนโยบายพัฒนากำลังคนด้าน วทน. เพื่อให้การพัฒนาฯ เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ

“วันนี้ด้วยการแข่งขันของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์กลายเป็นสิ่งสำคัญ และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขับเคลื่อนหลายโครงการเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนและประชาสังคม โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายใหม่ รวมถึงเกษตรกรและประชาชน อาทิ โครงการคูปองนวัตกรรม โครงการพัฒนาส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชน แผนงานสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (iTAP) การพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอุตสาหกรรมไทย โครงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ OTOP ด้วย วทน. 5 ภูมิภาค โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทุ่มงบประมาณทางด้านนี้กว่า 1.2 พันล้านบาท” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจใหม่หรือกลุ่ม startup โดยใช้กลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา ภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ให้ใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนา วทน.ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ ปิโตรเคมี วัสดุศาสตร์ โดยการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการเงินสำหรับการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและบริการของภาครัฐด้านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพ การสนับสนุนด้านการกำลังคน ผ่านกลไกศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย หรือ CRDC ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทใหญ่และเอสเอ็มอี ขณะนี้พร้อมนำร่องเกือบ 20 บริษัทแล้ว

ในด้านกำลังคน ดร.พิเชฐ ย้ำว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เน้นเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้าน วทน. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชน โดยดำเนินโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวทน. ที่มีอยู่จำนวนมากในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐให้ไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน การสร้างคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ให้เชื่อมโยงการศึกษาและการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันและกระจายโอกาสสู่พื้นที่ในภูมิภาค โดยเน้นการลงมือทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน การดำเนินโครงการนำร่องพัฒนากำลังคน STEM ทางเทคนิค ในรูปแบบโรงเรียนในโรงงาน การบูรณาการพัฒนากำลังคน วทน. ระดับสูงและในสาขาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะคนในสาขาระบบรางและนักปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อสร้างผลิตผลการเกษตรมูลค่าสูง

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงสานต่องานที่ทำอยู่เดิมและทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้กับทุกกระทรวงรวมถึงด้านสังคม แต่จะยกระดับการบูรณาการกับกระทรวงทางสายเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยใช้ วทน.เป็นตัวแปรสำคัญในการวางรากฐานสำหรับอนาคตเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เชื่อมโยงการลงทุนของบริษัทใหญ่กับเอสเอ็มอี ท้องถิ่นเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ