นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีความสับสนและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแร่ดิกไคต์และแร่ไพโรฟิลไลต์ โดยเข้าใจว่าแร่ที่สามารถใช้แกะสลักทำเป็นผลิตภัณฑ์ หรือใช้เป็นหินประดับที่สวยงามเป็นแร่ดิกไคต์ ส่วนแร่ที่ไม่สามารถนำมาใช้แกะสลักได้เป็นแร่ไพโรฟิลไลต์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขความสับสนและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแร่ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว จึงได้มีการประชุมหารือทางวิชาการร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และมีความเห็นพ้องตรงกันตามหลักวิชาการเกี่ยวกับแร่ดิกไคต์และแร่ไพโรฟิลไลต์ว่า เป็นแร่ที่จัดอยู่ในกลุ่มของแร่ดินที่มีองค์ประกอบทางเคมี ลักษณะทางกายภาพ และการกำเนิดของแร่ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งปัจจุบันสามารถจำแนกและแยกแร่ทั้ง 2 ชนิดได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยวิธีทางเอกซ์เรย์ ดิฟแฟรกโทเมทรี (X-Ray Diffractometry) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้จัดแบ่งแร่ดิกไคต์และแร่ไพโรฟิลไลต์ ตามการนำไปใช้งานเป็น 2 เกรด คือ เกรดประดิษฐกรรม ราคาประกาศ 6,400 บาทต่อตัน ค่าภาคหลวง 256 บาทต่อเมตริกตัน และเกรดอุตสาหกรรม ราคาประกาศ 600 บาทต่อตัน ค่าภาคหลวง 24 บาทต่อเมตริกตัน
สำหรับแหล่งแร่ดิกไคต์ที่สำคัญของประเทศมีอยู่ 2 แหล่ง แหล่งที่ 1 คือ พื้นที่เขาชะโงก และ เขาแหลม ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า แหล่งที่ 2 คือ พื้นที่เขาไม้นวล เขาผุพัง เขาสะท้อนสูง และเขาตะแบก ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งที่มีการดำเนินการทำเหมืองอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ พื้นที่แหล่งแร่บริเวณนี้มีการพบแร่ดิกไคต์ ทั้ง 2 เกรด โดยแร่ดิกไคต์คุณภาพดีเกรดประดิษฐกรรม จะมีสีหรือลวดลายสวยงาม มีความโปร่งแสงจนถึงโปร่งใส สามารถตัดขึ้นรูปได้ เกิดเป็นสายขนาดเล็ก ๆ บางครั้งพบเป็นกระเปาะแทรกตัวอยู่ใน แร่ดิกไคต์เกรดอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และกรมทรัพยากรธรณี จึงได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดจำแนกข้อมูลของหมู่เหมืองในบริเวณนี้ใหม่ เพื่อให้ข้อมูลชนิดแร่แต่ละเหมืองมีความถูกต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงและตามหลักทางวิชาการ ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้มีการตรวจสอบและการกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ตามข้อเท็จจริงและตามหลักทางวิชาการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด มิให้มีการลักลอบทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์จากการนำทรัพยากรของประเทศชาติมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ที่มา: http://www.thaigov.go.th