ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ‘ฐานสำคัญ’ กำหนดนโยบายและทิศทางพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 8, 2015 15:46 —สำนักโฆษก

ก.แรงงาน เชิญภาคอุตฯ นักวิชาการฯ เสนอมุมมอง ‘ช่วยสร้างฐานข้อมูล’ ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ เชื่อมโยงการกำหนดนโยบายด้านแรงงานไทย อนาคตโครงสร้างจ้างงานเน้นกลุ่ม ปวช./ปวส. การผลิตแบบใช้แรงงานเข้มข้น (labour Intensive) โยกย้ายฐานการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย กลุ่มยานยนต์ฯ ตั้งสถาบัน ‘AHRDA’ นำร่องพัฒนา/ ยกระดับกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการ

นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมศูนย์ข้อมูลแรงงานหารือร่วมกับนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่า สืบเนื่องจากพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ และในปีงบประมาณ 2559 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาและนำข้อมูลของศูนย์ฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความต้องการแรงงาน หลายฝ่ายมีการใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขที่แตกต่างกันมาก กระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลด้านตลาดแรงงานและต้องบริหารจัดการในการจับคู่ระหว่างความต้องการแรงงานและจำนวนแรงงานที่รองรับในตลาดแรงงาน(Demand – Supply) ให้เกิดความสมดุลระหว่างกัน และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและกำลังแรงงานที่ต้องการหางาน ทำให้กระทรวงแรงงานต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานก็ได้มีความร่วมมือกับ ทีดีอาร์ไอ โดยเฉพาะการพัฒนาแผนพัฒนากำลังคน ซึ่งได้ทำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสำรวจข้อมูลด้าน Demand – Supply โดยมีการประมวลผลใน 29 สาขาอุตสาหกรรม และได้ใช้ประมาณการความต้องการแรงงานในอีก 5 ปีข้างหน้า ของแต่ละสาขาว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้สอบถามภาคเอกชนในด้านความต้องการกำลังแรงงานว่า จริงๆแล้วมีจำนวนเท่าไหร่ ปรากฏว่าตัวเลขแตกต่างกัน ไม่ตรงกัน จึงเห็นควรได้มีการร่วมประชุมของผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องความสับสนของประชาชนหรือผู้ได้รับทราบข้อมูล และจะได้มีข้อมูลชุดเดียวกัน และเกิดประโยชน์ต่อกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นหน่วยที่จะต่อยอดกำลังแรงงานในด้านการพัฒนาให้แรงงานมีศักยภาพตรงตามที่ตลาดและภาคเอกชนต้องการต่อไป

ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง ประมาณการความต้องการใน 14 อุตสาหกรรมหลัก ประมาณ 5 ปี (ตั้งแต่ปี56-60) ต้องการ 6 แสนกว่าคน โดยแบ่งเป็นโครงสร้างตามระดับการศึกษา ดังนี้ ระดับ ม.3 มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ระดับ ปวช./ปวส. ประมาณ 28-29เปอร์เซ็นต์ และจะค่อยเพิ่มเปอร์เซ็นต์มาที่ระดับ 30 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและยานยนต์ ชิ้นส่วน และพวกโลหะ จะมีความต้องเพิ่มขึ้นจนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความต้องการระดับ ม.3 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ และระดับปริญญาตรี อยู่ที่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้คือความต้องการในภาคอุตสาหกรรมหลักด้านชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น (labour Intensive) จะใช้วุฒิ ม. 3 มากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ระดับ ปวช./ปวส. และปริญญาตรีจะใช้น้อย แต่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลง จะมีการย้ายฐานการผลิตออกไป เช่น ไปตั้งที่กัมพูชา โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นการลงทุนร่วม (Joint Venture) ขณะนี้ได้โยกย้ายฐานการผลิตไปแล้ว เพื่อเป็นการตัดจำนวนความต้องการใช้แรงงานไร้ฝีมือ แต่จะไปเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) แทน เป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน

นายถาวร ชลัษเฐียร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนแรงงาน ถ้ามองทางด้านการพัฒนาแรงงาน (Development) แต่ประเทศไทยจะแข่งขันไม่ได้ ถ้าโครงการเพิ่ม Productivity ไม่เกิดขึ้นหลายๆโครงการอย่างรุนแรง การเพิ่มแรงงานต่างด้าว ลาว กัมพูชา เมียนมา และนำแรงงานเวียดนามเข้ามาโดยไม่กำหนดความจำเป็นว่าควรเป็นจำนวนเท่าไหร่ จะทำให้เกิดปัญหาด้านสังคม วัฒนธรรม สาธารณสุขและโรคภัยต่อประเทศ

การยินดีต้อนรับแรงงานไร้ฝีมือ (Unskill labour) จำนวนมากๆเข้ามา ไม่ทำให้ประเทศไทยเราเจริญเติบโตได้ หากไม่ยอมเปิดรับแรงงานมีฝีมือเข้ามาด้วย (Skill labour) ดังนั้นต้องปิดกั้นแรงงานไร้ฝีมือไม่เข้ามา เพื่อบีบคั้นให้มีการพัฒนาด้านผลิตภาพแรงงาน ( labour productivity) เพื่อให้ใช้จำนวนคนเท่าเดิมแต่สามารถผลิตได้เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการพัฒนายกระดับความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงาน เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์(Automotive Human Resource Development Academy :AHRDA) ที่ตั้งอยู่ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค1 สมุทรปราการ ที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบการศึกษา และยกระดับกำลังแรงงานในตลาดเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เพื่อบูรณาการข้อมูลแรงงานจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยข้อมูลในศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติประกอบด้วย ข้อมูลตลาดแรงงาน (Labour Market) ข้อมูลด้านการจ้างงาน (Employment Promotion) ข้อมูลการพัฒนาฝีมือแรงงาน (Skill Development) ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ (Labour Benefit) กองทุนต่าง ๆ (Fund) และนโยบายที่สำคัญด้านแรงงานอื่นๆ ซึ่งการบูรณาการข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการ (Job Bank & Labour Bank) ในประเทศ สามารถเรียกดูข้อมูลได้อย่างเป็นเอกภาพ น่าเชื่อถือ ทันเวลาในการนำข้อมูลต่าง ๆ ไปประมวลผล วิเคราะห์คาดการณ์ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายหรือวางแผนพัฒนากาลังแรงงาน รวมถึงติดตามสถานการณ์แรงงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ