สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการปกครอง โดยให้นายอำเภอสำรวจข้อมูลหนี้สินเกษตรกรแล้วพบว่ามีเกษตรกรได้นำที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินไว้กับภาคเอกชนหรือนายทุนเงินกู้ โดยได้ทำเป็นสัญญาขายฝาก เรียกว่า หนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเนื่องจากได้มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว จำนวน 2,292 ราย มูลหนี้ 2,184,105,350 บาท แบ่งเป็น (1) มีหมายบังคับคดีแต่ยังไม่ตั้งเรื่องบังคับคดี จำนวน 1,546 ราย มูลหนี้ 1,968,479,382 บาท (2) อยู่ในขั้นตอนยึด จำนวน 127 ราย มูลหนี้ 49,769,726 บาท (3) อยู่ในขั้นตอนการขายทอดตลาด จำนวน 177 ราย มูลหนี้ 68,711,245 บาท (4) อื่นๆ จำนวน 442 ราย มูลหนี้ 1,184,105,350 บาท โดยกรมการปกครองได้ประสานงานกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกยึดที่ดินทำกิน ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนหนี้ดังกล่าวเข้าสู่สถาบันการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่มีหนี้สินจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีการนำที่ดินไปจำนองหรือขายฝากแต่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี จำนวน 46,747 ราย มูลหนี้ 6,388,947,102 บาท กรมการปกครองได้มอบหมายให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานคัดกรองข้อมูลและไกล่เกลี่ย มีผลดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว จำนวน 8,059 ราย มูลหนี้ 1,312,479,420 บาท สามารถปลดเปลื้องหนี้สินแล้ว จำนวน 497 ราย มูลหนี้ 94,555,527 บาท โดยวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้ส่งให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ จำนวน 329 ราย มูลหนี้ 51,532,180 บาท และส่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนส่วนอำเภอ (อชก.อำเภอ) จำนวน 149 ราย มูลหนี้ 32,416,367 บาท
สรุปผลการดำเนินการ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งสองกรณีได้ทั้งสิ้นแล้ว 2,789 ราย มูลหนี้ 2,278,660,877 บาท
สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้สินในระบบ โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ โดยกระทรวงมหาดไทยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรประชุมหารือและกำหนดแนวทางให้คณะทำงานระดับอำเภอดำเนินการคัดกรองลูกหนี้ที่ได้ทำการสำรวจไว้เพื่อดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจังและเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไม่ให้สูญเสียที่ดินทำกินไปอย่างไม่เป็นธรรม โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกฎหมาย การให้คำแนะนำ การไกล่เกลี่ย และการปลดเปลื้องหนี้สินตามระเบียบ กฎหมาย และอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th