8 กันยายน / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมห้องปฏิบัติการเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการสอบเทียบ การทดสอบ มาตรฐานและคุณภาพในเชิงบูรณาการ และปาฐกถาพิเศษ “นโยบายโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” ณ ห้องประชุมกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ 11 กระทรวง และผู้แทนภาคเอกชน กว่า 200 คนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศและช่วยแก้ไขปัญหาความขาดแคลนห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอย่างเป็นระบบ อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตเพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้แข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดการค้าอาเซียนและตลาดโลก
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบในภาพรวมทั้งระบบของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และง่ายต่อการสืบค้นของผู้ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบริการแบบรวมศูนย์ One Stop Service ที่รวบรวมโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เรียกว่า MSTQ อันประกอบด้วย 1. M : Metrology คือ ระบบมาตรวิทยา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหน่วยวัดของประเทศ เพื่อให้การวัดต่างๆ มีการอ้างอิงและสอบเทียบเครื่องมือวัดอย่างถูกต้องพร้อมใช้งาน 2. S : Standardization คือ การกำหนดมาตรฐานหรือคุณสมบัติขั้นต่ำที่ผลิตภัณฑ์และบริการต้องมี 3. T : Testing คือ การทดสอบ ที่ครอบคลุมการดำเนินการวัด วิเคราะห์ ทดสอบ รวมถึงการตรวจประเมิน เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์และการบริการเป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด และ 4. Q : Quality Assurance คือ การประกันคุณภาพซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบและการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์/กระบวนการ และการรับรองขีดความสามารถทางเทคนิคของห้องปฏิบัติการ
“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วางมาตรการการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะสั้น คือ จัดทำข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อให้เอกชนทราบถึงหน่วยปฏิบัติการที่มีอยู่ในปัจจุบันและขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งสามารถค้นหาข้อมูลและเข้าถึงบริการของห้องปฏิบัติการได้ อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 2. ระยะกลาง คือ วิเคราะห์สถานภาพของหน่วยทดสอบเพื่อวางแผนพัฒนาหน่วยทดสอบและวางแผนการลงทุนเครื่องมือและบุคลากรห้องปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเหมาะสม และ 3. ระยะยาว คือ การพัฒนาความสามารถของหน่วยทดสอบในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับมาตรฐานทั้งภาคบังคับและสมัครใจได้ครบทุก
รายการทดสอบได้การยอมรับระดับสากลรวมทั้งรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและมาตรฐานในอนาคต” ดร.พิเชฐ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ห้องปฏิบัติการ การสอบเทียบ การทดสอบ มาตรฐาน และคุณภาพในเชิงบูรณาการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการรวม 23 คน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐ 11 กระทรวง ได้แก่ ก.วิทยาศาสตร์ฯ ก.อุตสาหกรรม ก.สาธารณสุข ก.เกษตรฯ ก.คลัง ก.ไอซีที ก.ทรัพยากรฯ ก.คมนาคม ก.พาณิชย์ ก.มหาดไทย ก.พลังงาน และกรรมการจากหน่วยงานภาคเอกชน 3 หน่วยงาน ได้แก่ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาห้องปฏิบัติการ รวมทั้งวางระบบบูรณาการห้องปฏิบัติการเพื่อให้เอกชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว บัดนี้ คณะทำงานได้จัดทำเว็บไซด์กลางสำหรับฐานข้อมูลของปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างทดสอบระบบรวมทั้งทวนสอบข้อมูลและทยอยนำเข้าข้อมูลที่ผ่านการทวนสอบแล้วเข้าฐานข้อมูล
“การจัดประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารแนวทางการจัดทำฐานข้อมูล และนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน รวมทั้งเพื่อให้ห้องปฏิบัติการรับทราบวิธีการเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลของหน่วยงานในฐานข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ฐานข้อมูลดังกล่าวมีความสมบูรณ์และพร้อมให้นำใช้ประโยชน์ ทั้งในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการทดสอบและรับรองมาตรฐานและการบรูณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศในภาพรวมต่อไป” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th