รมว.ศธ.ให้นโยบายและรับฟังความคิดเห็น การประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาภาคใต้ ที่ จ.สงขลา

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2015 14:28 —สำนักโฆษก

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายและรับฟังความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ภาคใต้ เมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน 2558 ณ โรงแรมเดอะรีเจนซี่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด โดยมีพลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงาน กศน. นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการกระทรวง ร่วมการประชุมในครั้งนี้

แนะให้ อ.ก.ค.ศ.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ครบถ้วน

โดยเฉพาะการสร้างขวัญกำลังใจ คุ้มครองระบบคุณธรรมครู

รมว.ศึกษาธิการ ให้แนวทางนโยบายในที่ประชุมว่า กฎหมายการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ อ.ก.ค.ศ. ตามมาตรา 23 มี 10 ข้อ คือ 1) พิจารณากำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคล 2) พิจารณาให้ความเห็นชอบการบรรจุและแต่งตั้ง 3) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการพิจารณาความดีความชอบ 4) พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ 5) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ การปกป้องคุ้มครองระบบคุณธรรม การจัดสวัสดิการ และการยกย่องเชิดชูเกียรติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษา 6) กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลการบริหารงานบุคคล 7) จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูล 8) จัดทำรายงานประจำปีที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเพื่อเสนอ ก.ค.ศ. 9) พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของผู้บริหารของหน่วยงานการศึกษา 10) ปฏิบัติหน้าที่อื่น

การดำเนินงานของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะวนอยู่กับหน้าที่ตามข้อ 1-3 แต่หากได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบทุกข้อ จะทำให้การบริหารงานบุคคลของครูในเขตพื้นที่การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะข้อ 5 "การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ การปกป้องคุ้มครองระบบคุณธรรม การจัดสวัสดิการ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ" จึงเป็นหน้าที่ของ ก.ค.ศ.ที่จะช่วยกำหนดน้ำหนักให้ อ.ก.ค.ศ.เดินไปตามทิศทางของนโยบายในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย

จะให้ความสำคัญกับปัญหาเรียกรับเงินครูในการแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนวิทยฐานะ

ทั้งนี้ เคยมีเสียงครหาว่ายังมีระบบการเสียเงินทองในการโยกย้ายครู ซึ่งครูจำนวนหนึ่งต้องมีหนี้สินมากมาย ก็เพราะเสียเงินวิ่งเต้นในการโยกย้ายและเลื่อนวิทยฐานะ จึงขอให้ อ.ก.ค.ศ.ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือครู และหากยังมีคนวิ่งเต้นเสียเงินทองเพื่อเข้ามาเป็น อ.ก.ค.ศ. ก็ให้อนุมานได้ก่อนว่าจะมีการคืนทุน จึงจะจัดชุดเฉพาะกิจให้เฝ้าจับตาดูและดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และแม้ว่า อ.ก.ค.ศ.จะไม่ทุจริต แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือกับบุคคลที่ต้องการทำเช่นนั้นด้วย

ให้ อ.ก.ค.ศ.ปรับตัวและดำเนินการตามนโยบายในช่วงเวลานั้น

ในการทำงานก็เช่นกัน อ.ก.ค.ศ.ต้องเลือกดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาหรือจุดอ่อน ก็ต้องเร่งแก้ไขในจุดนั้นเสียก่อน และมีตรรกะในการทำหน้าที่ เช่น ปัญหาครูที่ตามไม่ทันโลก ตามไม่ทันเด็ก เพื่อเราจะได้เข้าใจเด็กในแต่ละช่วงวัย อ.ก.ค.ศ.ก็เช่นเดียวกัน ต้องพยายามเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน

นอกจากนี้ ขอให้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวง เช่น ในช่วงเวลานี้มีนโยบายลดเวลาเรียนในชั้นเรียนถึง 14.00 น. โดยนำร่องเฉพาะโรงเรียนที่สมัครใจในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น อ.ก.ค.ศ.ก็ต้องเข้ามาช่วยดูเรื่องนี้เช่นกัน หรือช่วงเวลานี้ที่มีการปฏิรูปประเทศ อ.ก.ค.ศ.ก็จะมีงานเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ ก.ค.ศ.จัดระบบงานให้ อ.ก.ค.ศ.ดำเนินการอย่างชัดเจน และเดินไปตามทิศทางของนโยบายในช่วงเวลานั้นๆ ร่วมกันด้วย

ทั้งนี้ การบริหารงานต้องบริหารความรู้สึกคนด้วย เช่น การที่นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงประชาชน เพื่อปรับ ครม.บางส่วน เป็นต้น

รับฟังความคิดเห็นหลากหลายจากที่ประชุม

ในการประชุมครั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เปิดโอกาสให้ อ.ก.ค.ศ.ได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการบริหารงานบุคคลของครู โดยสรุปดังนี้

  • ผู้แทน อ.ก.ค.ศ.หลายรายกล่าวในที่ประชุมว่า เห็นด้วยกับนโยบายลดเวลาเรียน เช่น ประเทศมาเลเซียก็เรียนครึ่งวัน จึงพร้อมจะให้การสนับสนุนนโยบายนี้
  • ต้องการให้แก้ไขปัญหารอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาโครงสร้าง/เยียวยา
  • สนับสนุนการแก้ไขการประเมินวิทยฐานะ P.A. ที่จะมีการแยกประเภทครู และให้ความสำคัญเรื่องจิตวิญญาณของความเป็นครู
  • ปัญหาของเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ ว7 ได้กำหนดให้ครูมีชั่วโมงสอน 5 คาบ/สัปดาห์ตามโครงสร้างหลักสูตร หรือไม่น้อยกว่า 1000 ชั่วโมง/ปีในระดับประถมฯ และไม่น้อยกว่า 1200 ชั่วโมง/ปีในระดับมัธยมฯ นั้น ครูที่สามารถสอนได้ตามเกณฑ์คือกลุ่มคณิตศาสตร์และภาษาไทย ป.1,2,3 หรือครูประจำชั้นและสอนทุกกลุ่มประสบการณ์เท่านั้น เป็นการปิดกั้นครูส่วนใหญ่ในการขอประเมินวิทยฐานะตาม ว7 จึงขอให้การทบทวนและแก้ไขหลักเกณฑ์ ว7
  • ประธานคณะกรรมการประเมินวิทยฐานะตาม ว7 ชุดที่ 1-2 ต้องเป็นระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป เว้นเสียแต่ ก.ค.ศ.แต่งตั้งให้ยืมใช้ และมีการล็อกไว้อีกว่าคณะกรรมการหนึ่งชุดสามารถประเมินครูได้กี่คน จึงขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว
  • การสอบ O-NET เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างโรงเรียนสาธิตกับโรงเรียนชายขอบ ทั้งด้านเด็ก ครู อุปกรณ์สื่อ จึงฝากให้ดูแลครูและโรงเรียนชายขอบด้วย
  • ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรประถมศึกษาให้เหมาะสมมากขึ้น
  • ต้องการเห็นการปราบทุจริตให้กระทรวงศึกษาธิการให้หมดสิ้น
  • การปฏิรูปการศึกษาไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2538 จากนโยบายหักไม้เรียว (ประเด็นนี้ รมว.ศึกษาธิการ แสดงความเห็นว่า หากครูมีจิตวิญญาณถือไม้เรียว เด็กจะรับความรู้สึกได้ แต่ถ้าครูถือไม้เรียวโดยไม่มีจิตวิญญาณครู ก็จะเป็นผลลบมากกว่าผลบวก)
  • ครูที่ถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากราชการ แม้ขั้นตอนอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ก็ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการนานมาก (รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเด็นนี้จะรับไปพิจารณาดำเนินการทันที ตรงใจมาก เพราะหากกระบวนการยุติธรรมล่าช้า ก็ถือว่าไม่ยุติธรรมแล้ว)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ