รมว.ศธ.รับฟังสภาพปัญหาการจัดการศึกษาภาคใต้ ที่สงขลา

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2015 14:49 —สำนักโฆษก

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงาน กศน. นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับฟังสภาพปัญหาในการจัดการศึกษาภาคใต้ จากผู้บริหารทุกสังกัดในจังหวัดสงขลา เมื่อวันพุธที่ 9กันยายน 2558 ณ โรงแรมเดอะรีเจนซี่ อำเภอหาดใหญ่ โดยสรุปดังนี้

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1,2,3

นายปราโมทย์ ส่งสิงห์ ผอ.สพป.สงขลา เขต 1 รายงานถึงปัญหาและแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  • การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก : ที่มีคะแนน O-NET ต่ำ แก้ไขปัญหาโดยพยายามเร่งรัดคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนทุกระดับ เน้นกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคะแนนเฉลี่ย 40% ลงมา และมีการนิเทศเครือข่ายกรรมการบริหารวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก

(รมว.ศึกษาธิการ เสนอให้มีแนวทางแก้ปัญหา เช่น โรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง คลี่ปัญหาให้เห็นชัดๆ ก่อนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ เช่น หมุนเวียนครูไปสอน จัดรถรับส่งนักเรียน เสนอแนะว่าการแก้ปัญหาอย่า Statics ต้อง Dynamic และขอให้ สพฐ. ไปจัดทำรูปแบบการพัฒนา รร.ขนาดเล็กว่ามีกี่แบบ เพื่อให้โรงเรียนเลือกใช้)

  • ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ : โดยมีการคัดกรองเด็ก
  • การปรับลดเวลาเรียนของนักเรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น. จะดำเนินการเฉพาะระดับประถมและมัธยมฯ ตอนต้น ให้เป็นไปตามความสมัครใจ และนำร่องในปีนี้ร้อยละ 30 จำนวน 142 โรงเรียน
  • การจัดสรรงบประมาณประจำปี (งบลงทุน) ปัญหามีหลายด้าน อาทิ ครูไม่มีความชำนาญด้านงบประมาณ ไม่สามารถหาผู้รับเหมาได้ ไม่มีผู้เสนอราคาได้ โรงเรียนไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ งบฯ เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้า
  • จำนวนนักเรียนย้อนหลัง 5 ปีมีแนวโน้มลดลง ลดลงเฉลี่ยปีละ 1,000 คน

(รมว.ศึกษาธิการ ให้หาสาเหตุว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้จำนวนนักเรียนลดลง สาเหตุใดที่ทำให้จำนวนประชากรลดลง พยายามถอดปัญหาให้ละเอียดก่อนว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง เช่น เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานหรือไม่ สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากคืออย่าปล่อยให้เด็กหายจากระบบการศึกษา)

สถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดสงขลา

นายดำเนิน แสงสีดำ รอง ผอ.วิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎร์นิกร รายงานว่าสถานศึกษาอาชีวะในจังหวัดสงขลามี 10 แห่ง ครู 460 คน ครูอัตราจ้าง 177 คน ลูกจ้างชั่วคราว 271 คน ลูกจ้างประจำ 66 คน พนักงานราชการ 134 คน นักศึกษา ปวช. 8,446 คน ปวส. 3,754 คน เปิดสอน 4 หลักสูตร คือ ปวช./ปวส./หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น/ปริญญาตรี

  • เน้นการพัฒนาสมรรถนะคุณภาพผู้เรียน : โดยการส่งเสริมการเรียนภาษาอาเซียน การจัดการเรียนร่วมกับสถานประกอบการหรือทวิภาคี การศึกษาดูงานในสถานประกอบการทุกปี
  • เน้นการเพิ่มจำนวนผู้เรียน : โดยจัดทำ MOU กับสถานประกอบการ การแนะแนวการศึกษาสายอาชีพ และการจัดโครงการบริการชุมชน โดยออกศูนย์บริการตามชุมชน

รมว.ศึกษาธิการ สอบถามถึงการจัดระบบทวิภาคีของอาชีวะสงขลาว่า สามารถเพิ่มจำนวนผู้เรียนได้เท่าไรเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ถึง 20% ซึ่งอาชีวะสงขลาให้ตัวเลขว่าเพิ่มได้ 15% ซึ่งก็เห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16

นายศลใจ วิบูลย์กิจ ผอ.สพม.เขต 16 นำเสนอ ดังนี้

  • หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจัดอัตรากำลังครู ซึ่งเกณฑ์มาตรฐาน รร.มัธยมคือ นักเรียน 40 คนต่อครู 1 คน ปัญหาเกิดจากโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูเกินเกณฑ์ 24 โรงแต่ขาดครูในบางกลุ่มสาระการเรียนรู้เกือบทุกโรง แก้ไขโดยพยายามคืนอัตราครูที่ขอย้ายออกไป
  • การปรับลดเวลาเรียนในชั้นเรียน มีโรงเรียนมัธยมฯ แจ้งความประสงค์ต้องการเป็นโรงเรียนนำร่องจำนวนมาก แม้กระทั่งโรงเรียนขนาดใหญ่เช่นโรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา (รมว.ศึกษาธิการ ขอให้นำร่องเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน โดยกิจกรรมหลังเลิกเรียนในชั้นเรียน อาจเป็นกีฬา ศิลปะ ดนตรี ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กทำกิจกรรมแล้วได้รู้ว่ามีความถนัดอะไรในขั้นต้น ขณะนี้ สพฐ.กำลังคิดเมนูให้ จะเสร็จสิ้นและนิ่งภายใน 10 ตุลาคมนี้)

สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา

นางวรรญา ทิพย์ดนตรี ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา รายงานว่า มีหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย กศน.อำเภอ ที่เป็นสถานศึกษา 16 แห่ง กศน.ตำบล 17 แห่ง ห้องสมุด 16 แห่ง บุคลากรในสังกัด 385 คน เสนอประเด็นปัญหา ดังนี้

  • อัตราผู้ไม่รู้หนังสือของ จ.สงขลา 8,347 คน ซึ่งได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร 50 ชั่วโมง และใช้สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีการปรับกระบวนทัศน์ในการเรียนการสอน (รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าผู้ที่ไม่ผ่านหลักสูตร 50 ชม.ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ กศน.จึงต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจน ซึ่งหลักสูตรอาจจะดีอยู่แล้ว แต่อาจจะปรับจำนวนชั่วโมงให้เหมาะสมก็ได้)
  • การศึกษาสำหรับทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นผู้เรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายจำนวน 2,078 คน ปัญหาที่พบคือ ทหารกองประจำการที่เป็นนักเรียนถูกส่งไปชายแดนภาคใต้ มีปัญหาการพกพาแบบเรียนเล่มใหญ่ทำให้ทหารสนใจเรียนน้อยลง จึงแก้ปัญหาโดยทำแบบเรียนแบบพกพา 5 สาระ 22 รายวิชา (เป็นหลักสูตรเดียวกับที่ สพฐ.จัดทำ) ท้ายบทจะมีแนวข้อสอบเพื่อให้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ได้ผลเพราะทดลองมา 2 ภาคเรียนแล้วได้ผลดี กศน.สงขลาจึงถือเป็นต้นแบบในเรื่องนี้
  • การศึกษาเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เฉพาะ 4 อำเภอในสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) โดยมีสถาบันศึกษาปอเนาะ 42 แห่ง มีนักศึกษาปอเนาะ 2,786 คน
  • การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาพาสันติสุข ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู เพื่อการสื่อสาร
  • กีฬาสัมพันธ์ มีการจัดแข่งขันกีฬาเครือข่ายเยาวชนคนนอกโรงเรียนสร้างสันติสุข ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มีการจัดการแข่งขันฟุตบอล กศน.คัพใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชิงถ้วย รมช.ศึกษาธิการ

(รมว.ศึกษาธิการ ให้ดูข้อมูลผู้มาเรียน กศน.ว่าจบระดับชั้นต่างๆ แล้วไปทำอะไร เรียนต่อในระดับชั้นต่างๆ เท่าใด เพื่อจะได้เพิ่มเติมด้านอื่นๆ ในการจัดการศึกษาด้วย นอกเหนือจากด้านวิชาการ)

สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายวาทิต มีสนุ่น รอง ผอ.สช.สงขลา กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังนี้

  • ปัญหาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศ เกิดข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะใช้โปรแกรมที่แตกต่างกัน ทำให้พบว่ามีข้อมูลจำนวนนักเรียนซ้ำซ้อนกันมากถึง 2,885 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 238,457 คน ส่งผลให้ต้องเรียกคืนเงินอุดหนุนรายหัวกรณีนักเรียนซ้ำซ้อนจำนวนทั้งสิ้น 43.69 ล้านบาทในปีการศึกษา 2556 จึงต้องการให้มีการพัฒนาระบบให้เป็นโปรแกรมเดียวกัน (รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้มีระบบจัดเก็บข้อมูลรวม ไม่ใช่ต่างคนต่างเก็บข้อมูล)
  • ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ สช.สงขลา ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบ 4 อำเภอในสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ส่วนอำเภอที่เหลือในสงขลา ปัจจุบันสังกัด สพป. สงขลา เขต 1 ทำให้ขาดเอกภาพในการทำงานระดับจังหวัด (รมว.ศึกษาธิการ รับว่าจะนำไปพิจารณาแก้ไขให้)

วิทยาลัยชุมชนสงขลา

นายนิยม ชูชื่น ผอ.วิทยาลัยชุมชน (วชช.) สงขลา นำเสนอ Mind Map เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของ วชช.สงขลา เพื่อสร้างโอกาสในระดับอนุปริญญา การจัดการศึกษาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ต้องการให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพครู เพราะการสอบบรรจุบุคลากรครูระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งสาขาที่ต้องการไม่มีผู้สมัครสอบเลย เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู จึงขอให้ยกเว้นเป็นกรณีบ้าง

(รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าจะนำปัญหานี้ไปพิจารณา และชมเชยถึงการนำเสนอในรูปแบบ Mind Map โดยเสนอแนะเพิ่มเติมถึงการออกแบบว่า ควรเน้นเทคนิคการออกแบบโดยแยกแยะสีสันต่างๆ ให้เห็นชัดเจน ดูแล้วเข้าใจง่าย เช่นเดียวกับครูที่จะต้องมีเทคนิคการสอน และเทคนิคการถ่ายทอดที่ดี เพื่อให้นักเรียนสนใจการเรียนการสอน)

ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ซึ่งเด่นมากทางด้านการผลิตกำลังคนด้านปิโตรเลียม เพราะเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่เปิดสอนหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม (จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ) มาตั้งแต่ปี 2534 จนกระทั่งปี 2537 เปิดสอนเพิ่มในสาขาเทคโนโลยีหลุมเจาะปิโตรเลียม ปัจจุบันมีผู้สำเร็จสาขาดังกล่าวแล้ว 19 รุ่น 524 คน ได้ทำงานที่มีรายได้สูงมาก

รมว.ศึกษาธิการ ให้ข้อเสนอแนะว่า สถานศึกษาอาชีวะแต่ละแห่งควรหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ให้เจอ อาจจะเก่งสาขาเดียวหรือ 2-3 สาขาก็ได้ ดังเช่นการเปิดสอนสาขาปิโตรเลียมของวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ที่กระทรวงศึกษาธิการพร้อมให้การสนับสนุน เพราะมีแห่งเดียวในประเทศ จึงขอให้ สอศ.รับปัญหาไปพิจารณา เช่น ปัญหาการขาดแคลนครู/เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง รวมทั้งควรสนับสนุนให้ผู้ชำนาญการจากสถานประกอบการ รวมทั้งศิษย์เก่าที่มีช่วงวันหยุดหลายวันให้เข้ามาช่วยสอนมากขึ้น และอาจขยายความร่วมมือด้านหลักสูตรกับสถาบันชั้นนำของต่างประเทศ เพื่อให้ประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวส. ที่มีการรับรองจากสถาบันนั้นๆด้วย อันจะส่งผลถึงการขยายจำนวนผู้เรียนให้ก้าวไปในระดับอาเซียนต่อไปด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ