ก.แรงงาน พร้อม ! ร่วมมือภาคเอกชน 'สร้างการรับรู้' ขยายผลมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2015 15:24 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน 'สร้างการรับรู้' พร้อมประสานความร่วมมือภาคเอกชน ขยายผลมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานของไทย สู่ระดับสากล แจงข้อมูล 'โรดแมป' 3 ระยะ ยืนยัน ทุกหน่วยงานภาครัฐทำงานบูรณาการร่วมกัน เร่งตอบโจทย์แก้ข้อกล่าวหาฯทุกมิติ

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ให้การต้อนรับผู้แทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และทีมงาน Shrimp Sustainable Supply Chain Task Force ซึ่งประกอบด้วย Mr.Bob Miller, Mr. Martin thurley ผู้บริหารของ CPF ประเทศอังกฤษ Mr.Ken Kimble ผู้บริหารของ Costco ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Mr.Huw Thomas ผู้บริหารของ Morrison ประเทศอังกฤษ ที่ขอเข้ารับทราบข้อมูลระบบการบริหารจัดการและมาตรการแก้ไขปัญหาประเด็นด้านแรงงานในกิจการประมงของกระทรวงแรงงาน

ในโอกาสนี้ ได้ชี้แจงมาตรการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานของไทย รวมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอย่างมุ่งมั่น เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้หลุดพ้นการถูกกล่าวหาจากปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แรงงานในกิจการประมงทะเล โดยได้กำหนดเป็นโรดแมป ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการในภารกิจหลักๆ อาทิเช่น มาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวตามแนวทาง คสช. ,การจัดระเบียบสาย/นายหน้า ผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานทั้งในและนอกประเทศและนโยบายการจ้างงานแรงงานต่างด้าวแบบนำเข้าผ่าน 'MOU' ,การจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัดชายฝั่งทะเล ๗ ศูนย์ ในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา และสตูล เพื่อจัดระเบียบแรงงานประมงและเรือประมง การให้ความคุ้มครองแรงงานในเรือประมงด้วยการตรวจแรงงานทั้งในสถานประกอบการบนฝั่งและในเรือประมงทะเลซึ่งเป็นการตรวจแบบบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน รวมถึงการตรวจแรงงานในเรือประมงก่อนและหลังการทำประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (Port In-

Port Out) มีจัดอบรมให้ความรู้นายจ้างและลูกจ้าง การกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี จึงทำงานในเรือได้ และการจัดทำสัญญาจ้างงาน ๓ ภาษา คือ ลาว เมียนมา กัมพูชา ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม/ดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกระทำผิด ซึ่งมีการดำเนินคดีทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย

สำหรับมาตรการด้านกฎหมาย ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (การคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล) ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ ให้คุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปในเรือประมงทะเลทุกลำ ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน ให้จัดเวลาพัก ให้มีการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง เอกสารการจ่ายค่าจ้าง และค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทย โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างเจ้าของเรือและคนประจำเรือ มาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงานและรายละเอียดเกี่ยวกับใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานเป็นการเฉพาะประเภทกิจการได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ