7 กันยายน 2558 ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานในการมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ให้แก่ 4 ห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา บริษัท เอ เอฟ อี จำกัด , ห้องปฏิบัติการบริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด , ห้องปฏิบัติการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) , SCG CAMBODIA LABORATORY รวม 4 ราย ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ กล่าวว่า การจัดทำระบบบริหารงานคุณภาพห้องปฏิบัติการ ตาม ISO/IEC 17025 เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกเหนือจากข้อกำหนดด้านความสามารถทางวิชาการที่เป็นหลักแล้ว ยังเน้นความสำคัญของการบริหารจัดการโดยผู้บริหารต้องสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการสื่อสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้ระบบงานห้องปฏิบัติการมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการนั้นถือเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพและความสามารถของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่รู้จักและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของห้องปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความมั่นใจและผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและสากล พร้อมแข่งขันในเวทีการค้าโลก
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มุ่งผลักดันให้ห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น ทั้งสนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ เพิ่มทักษะด้านวิชาการแก่บุคลากรภายในห้องปฏิบัติการ พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศไทยไปสู่การได้รับการยอมรับในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการเองได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนห้องปฏิบัติการทดสอบทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการให้ความรู้ความเข้าใจ ชี้แจงให้เห็นความสำคัญของการจัดทำระบบการบริหารงานคุณภาพห้องปฏิบัติการ นำมาตรฐานสากลมาใช้ควบคุมคุณภาพการดำเนินงานและทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของลูกค้า เป็นการสร้างหลักประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลการทดสอบและเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันขจัดปัญหาการตรวจสอบซ้ำ
นางสุดา นันทวิทยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ ได้กล่าวรายงานว่า สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีบทบาทในการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศในสาขาการทดสอบด้าน ฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตาม ISO/IEC 17025 ซึ่งสำนักได้รับการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangements, MRAs) ทั้งในระดับภูมิภาคกับองค์กร Asia Pacific Laboratory Accreditation Corporation, APLAC และในระดับสากลกับ International Laboratory Accreditation Corporation, ILAC จากการลงนามการยอมรับร่วมกับ ILAC ส่งผลถึงการได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศสมาชิกของ ILAC ในภูมิภาคอื่นด้วย รวมทั้งได้ให้การรับรองผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ตามข้อกำหนด ISO/IEC 17043 และให้การรับรองผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงตามข้อกำหนด ISO Guide 34 อีกด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th