พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้กำหนดเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ใน 5 พื้นที่ชายแดนรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา, ชายแดนจังหวัดมุกดาหาร, อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, ชายแดนจังหวัดตราด ระยะที่ 2 ใน 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ ชายแดนจังหวัดเชียงราย, ชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี, ชายแดนจังหวัดหนองคาย, ชายแดนจังหวัดนครพนม และชายแดน จังหวัดนราธิวาส
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน ได้ให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระบวนการสร้างคนด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
การพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ อันก่อให้เกิดความภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองและได้หลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีคุณภาพ
จึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า นักเรียนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 พื้นที่จะได้รับโอกาสและประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ทั้งด้านความรู้และทักษะในดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จากความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงาน
ดร.กมล รอดคล้าย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานตามโครงการว่า เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อทดลองใช้หลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเพื่อประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจำนวน 10 พื้นที่ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนร้อยละ 100 มีหลักสูตรการจัดการศึกษารองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
โอกาสนี้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยมีนายทวีศักดิ์ ตั้งอารีอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียน ได้นำเยี่ยมชมการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพจากการปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในหลายส่วน อาทิ
- การจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอำเภอโพนพิสัย โดยฝึกให้สามารถสื่อสารได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ ไทย ลาว ยาวี (มาเลย์) และเวียดนาม
- การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีงานทำ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านคหกรรม ด้านสร้างสรรค์ ด้านพาณิชยกรรมและบริการ
- การจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ การช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหา มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนเรียนดี ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนตามวัยอย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
- การจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ทั้งในด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความสามารถในการประกอบอาชีพ เช่น การนวดแผนไทย การตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
- การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง (BBL) โดยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป.1-3
- การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในรูปแบบการเรียนการสอน 3 แบบ คือ 1) eDLTV ด้วยระบบ e-Learning 2) Application 3) DLTV
ทั้งนี้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดหนองคาย ได้ทำการเปิดสอนแบบสหศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยรับนักเรียนยากไร้ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ให้ความอุปการะเรื่องที่อยู่ อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การเรียน มุ่งเน้นจัดการศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ ด้านการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสามารถเป็นผู้นำหรือสื่อกลางระหว่างรัฐกับชุมชนที่ตนเองอยู่ได้เป็นอย่างดี
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมการดำเนินงานของโรงเรียนที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ มีการจัดการศึกษาอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับท้องถิ่น ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความสุข เข้าถึงการศึกษาได้ และมีโอกาสด้านอาชีพในอนาคต ซึ่งความสำเร็จล้วนเกิดจากความร่วมมือที่เข้มแข็งของคณะครู ผู้บริหาร ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันพัฒนาการศึกษาเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th