16 กันยายน ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านแก้ว ประจำปี 2558 (ICG Annual Meeting 2015) เป็นครั้งแรกในอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เพื่อให้วิทยากรระดับโลก นักวิจัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ ผู้ประกอบการจากนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่าย ทั้งเชิงวิชาการและธุรกิจ อันจะนำไปสู่นวัตกรรมด้านแก้วที่จะยกขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะจัดขั้นในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2558 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแก้วและกระจกมีมูลค่าการส่งออกถึง 35,000 ล้านบาท ต่อปี มีโรงงานอุตสาหกรรมแก้วประมาณ 200 โรงงาน นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อประเทศ เนื่องจาก มีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนแก้ว เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ตัวเลขการส่งออกเฉพาะแก้ว ขวด และเครื่องแก้วบนโต๊ะอาหาร มีแนวโน้มขยายตัวอีกร้อยละ 20-30 คิดเป็นเงินเพิ่มเข้าประเทศกว่าอีกหลายพันล้านบาท นอกจากนี้ยัง เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีอยู่แล้วในประเทศ เช่น ทราย หินปูน โดโลไมต์ แร่ฟันม้า อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยัง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด จัดเป็นวัสดุที่ควรสนับสนุนยิ่ง
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนหลายมาตรการในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่พร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีห้องปฏิบัติการเชี่ยวชาญด้านแก้วที่มีความสามารถ ได้รับการยอมรับและเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า มีศักยภาพและความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแก้ว ในการเป็นตัวเชื่อมความร่วมมือจากภาครัฐไปสู่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังให้บริการครอบคลุมทั้งด้านบริการวิเคราะห์ทดสอบ วิจัยพัฒนา การให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแก้วให้ทัดเทียมสากล
ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นสมาชิกของ International Commission on Glass (ICG) มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านแก้วที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีสมาชิกเป็นสถาบันด้านแก้ว มหาวิทยาลัย องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ดีระหว่างงานวิจัยและวิชาการ กับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ วศ. ได้เตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จึงมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จและจะทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ การจัดประชุมนี้ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยการนำนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงเข้าสู่ประเทศในอีกทางหนึ่ง
ด้านนายวรวิทย์ สุรีศรากร รองประธานและเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนและยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แก้วไปทั่วโลก อาทิ บรรจุภัณฑ์แก้ว กระจกแผ่น เครื่องแก้วที่ใช้บนโต๊ะอาหาร หลอดแก้วที่ใช้กับหลอดไฟฟ้าในรถยนต์ ฉนวนใยแก้ว บล็อคแก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแก้วในประเทศไทย ที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่จะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมด้านแก้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทยคงความเป็นผู้นำได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th