โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรให้เกษตรกรเข้าใจ วอนเกษตรกรอย่าเดินขบวนเพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 20, 2015 14:53 —สำนักโฆษก

วันนี้ (20 ต.ค.58) เวลา 14.50 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

วันที่ 28 ตุลาคม 2558 เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมแม่น้ำห้าสาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา ซึ่งจุดประสงค์การประชุมเพื่อทุกฝ่ายจะได้นำเสนอข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานแม่น้ำห้าสายเป็นไปด้วยความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้ โดยสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอดถือเป็นเรื่องของการปฏิรูปในระยะที่หนึ่ง ซึ่ง สปท. ก็จะต้องนำไปวางแผนต่อ และการวางแผนของ สปท.จะมีข้อมูลส่วนหนึ่งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะเดิมประกอบด้วย ทั้งนี้เดิมในแต่ละส่วนของแม่น้ำแต่ละสายจะมี วิปของตนเองที่ประสานงานระหว่างกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้จะมีวิปขึ้นมาอีกหนึ่งคณะเป็นวิปร่วม 3 สาย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สนช. และสปท. เพื่อให้การทำงานเกิดความประสานสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี เร่งรัดเกี่ยวกับเรื่องนิคมยางพาราหรือรับเบอร์ ซิตี้ รวมทั้งเรื่องศูนย์ทดสอบยางล้อซึ่งได้เคยมีข้อสั่งการและอนุมัติไปแล้ว จึงต้องการให้มีการเร่งรัดดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรที่มักจะพบปัญหาบ่อยครั้ง เช่น เรื่องข้าว ปาล์มน้ำมัน เรื่องยางพารา เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรี ได้ปรารภว่าปัญหาทุกเรื่องมีทางแก้ไข แต่การแก้ไขปัญหาทั้งหลายเหล่านี้จะต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันอย่างเปิดอก และต้องเป็นการพูดคุยที่ยอมรับฟังข้อมูลของคู่สนทนาด้วยว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร การจะกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาจะเอาใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาปัญหาอื่น ๆ ประกอบด้วย ทั้งนี้ หากพูดคุยกันโดยให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งกันและกัน และมีการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะแก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ขออย่างเดียวว่าอย่าเดินขบวนเพื่อกดดัน เพราะไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหา นายกรัฐมนตรี จึงฝากผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ 1) กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หากมีปัญหาเรื่องของการกำหนดรายละเอียดราคาพืชผลตกต่ำในพืชผลแต่ละชนิด หน่วยงานส่วนราชการจะต้องลงไปแก้ปัญหาโดยด่วน ในการที่จะทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่ารอให้ประชาชนหรือเกษตรกรเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจในการแก้ปัญหา และ2) เกษตรกรต้องไม่เดินขบวน เพราะการเดินขบวนเพื่อกดดันรัฐบาลเช่นนี้ หรือการเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยอย่างเดียวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และหากเป็นคนไทยด้วยกันต้องพูดคุยกัน เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะส่วนที่มีปัญหาซึ่งประชาชนได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เรียบร้อยแล้ว แต่รู้สึกว่าคดีต่าง ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการที่ดีกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสถานที่จอดรถ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามน่าจะมีการดำเนินการที่ได้มากกว่านั้น เช่น ในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์ดำรงธรรมประจำอยู่ ซึ่งประชาชนที่ประสบปัญหาก็ได้มีการแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ไปแล้ว แต่มีความรู้สึกว่าเรื่องที่ร้องทุกข์ไปไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอเป็นแนวความคิดฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หาแนวทางและประชุมหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ ของประชาชน เช่น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกเรื่องที่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมา ให้เป็นคล้าย ๆ กับศูนย์ดำรงธรรมของตำรวจ โดยใช้สถานที่เดียวกับศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละจังหวัดแต่แยกส่วนออกมาให้ชัดเจน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกและบริการให้กับประชาชนได้มากขึ้น ขณะที่ในส่วนกรุงเทพฯ ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรถึงจะไม่เกิดความซ้ำซ้อน และสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภถึงเรื่องการทำกิจกรรมที่คืนประโยชน์ให้กับสังคมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคเอกชนเมื่อมีการดำเนินธุรกิจก็จะมีการจัดกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR ) เพื่อคืนประโยชน์หรือกำไรให้กับสังคม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ทุกบริษัทมักจะมุ่งไปในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้วเรื่องการคืนประโยชน์หรือคืนคุณค่าต่าง ๆ ให้กับสังคมน่าจะมีใจความที่มากกว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงฝากหน่วยงานทุกระทรวง ทบวง กรม ที่ได้มีโอกาสสนทนาหรือประสานงานกับภาคธุรกิจเอกชนบริษัทต่าง ๆ ที่มีโครงการจัดทำ CSR ว่า ภาคเอกชนสามารถที่จะขยายขอบเขตงานของ CSR ได้มากขึ้นไม่เฉพาะเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว โดยอาจจะเชื่อมโยงถึงวิสาหกิจชุมชนที่ social business หรือ social enterprise เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากในแต่ละชุมให้มีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นการคืนประโยชน์ที่ดีกับสังคมได้อีกทางหนึ่ง จะได้มีขอบเขตงาน CSR ที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม คสช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานการปฏิบัติบูรณาการกันภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เพื่อเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีอิทธิพลในท้องถิ่น รวมถึงเรื่องของอาวุธสงคราม โดยนายกรัฐมนตรี ให้ระยะเวลา 6 เดือน ในการดำเนินการดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

พร้อมทั้งวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) รายงานต่อที่ประชุมครม. ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไป โดยเฉพาะภาพรวมของข้อตกลง TPP และมุมมองทัศนคติทั้งในแง่บวกและแง่ที่มีผลกระทบ ซึ่งมูลค่าของ GDP ของสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ อยู่ที่ 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 38% ของโลก ประชากรรวมทั้ง 12 ประเทศประมาณ 800 ล้านคน คิดเป็น 11% ของโลก ขณะที่ในความตกลงของ TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะมีมาตรฐานสูงครอบคลุมทั้งในตลาดการค้า สินค้า การบริการ การลงทุน ตลอดจนการปฏิรูป และสร้างความสอดคล้องในกฏระเบียบทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในการเจรจาของ TPP จะครอบคลุมในเรื่องของการเปิดตลาดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอ่อนไหวจะมีระยะเวลาที่ลดภาษีนานกว่า เป็นต้น รวมทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินก็มีการห้ามใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน แต่อนุญาตที่จะให้มีมาตรการในลักษณะของการรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้ ขณะเดียวกันกฎระเบียบก็ให้สะสมถิ่นกำเนิดสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก เพราะฉะนั้น การเข้าเป็นสมาชิก TPP ก็มีทั้งข้อดีและข้อที่เป็นผลกระทบพอสมควร อย่างไรก็ตามในการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการเชิญคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้ง 3 ส่วนเห็นพ้องตรงกันว่าการเข้าเป็นสมาชิก TPP มีประโยชน์และคาดว่าจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเอกชนบางรายยังมีข้อกังวลอยู่ในประเด็นที่ไทยจะต้องส่งสินค้าไปแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันที่เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว เช่น ไก่ ไทยอาจจะต้องแข่งขันกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือข้าว ไทยอาจจะต้องแข่งขันกับประเทศเวียดนาม เป็นต้น

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าความจริงแล้วบรรดาประเทศที่อยู่ในสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ นั้น มีอยู่ 9 ประเทศที่ประเทศไทยได้มีความตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกา แคนนาดา และเม็กซิโก อย่างไรก็ตามขณะนี้ไทยอยู่ในระหว่างการเจรจาความตกลงกลุ่มภาคีที่เรียกว่า RCEP แม้ว่าในกลุ่ม RCEP จะมีมูลค่า GDP ที่น้อยกว่าสมาชิก TPP ก็ตามแต่จากที่ได้คำนวณพบว่ากลุ่มประชากรในประเทศอาเซียน+6 มีจำนวนประชากรถึง 3,500 ล้านคน และ RCEP ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถจะรองรับสินค้าและการบริการของไทยได้ เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือการเข้าเป็นสมาชิกของ TPP ไม่ได้จะเป็นไปโดยทันทีแต่ต้องมีการเจรจารต่อรองระหว่างประเทศที่เป็นคู่ภาคีด้วยกันด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ปี ถึงจะทำให้ความตกลง TPP มีผลบังคับใช้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ และต้องการให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแต่ละชนิดที่เป็นสินค้าอ่อนไหว และสินค้าที่ไทยสามารถที่จะเปิดตลาดต่าง ๆ ได้ ซึ่งแต่ละชนิดมีผลดีและเสียอย่างไร เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังมีเวลาที่จะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะตกลงใจด้วยความรอบคอบ โดยยังไม่สมควรที่จะตกลงบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่เพียงเท่านี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ