วันนี้ (21 ต.ค.58) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 3/2558 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกรสวนยาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า การประชุมวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาง และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ภาคเอกชน สวนยาง ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันหลายเรื่องทั้งการที่จะพัฒนาโครงสร้าง ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต จำหน่ายยางให้มีความยั่งยืน ไม่เกิดข้อขัดแย้ง การสร้างความเข้มแข็ง ปรับลดต้นทุนการผลิต การตลาด การใช้ยางในประเทศที่ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาถึงความเหมาะสมของถนนที่จะใช้ยางพาราสร้างถนน ยืนยันจะใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาที่การใช้ยางในประเทศมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนเรื่องการส่งเสริมการทำที่นอนยาง ถุงมือยาง สนามฟุตซอลในวันนี้ก็อาจจะไม่พอแล้ว เพราะมีการแข่งขันกันหลายประเทศ มีการสั่งจองยางเพื่อทำสนามกีฬาจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหม่หลายบริษัทที่รับซื้อยางไปแล้ว และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตยางในประเทศในขณะนี้ก็กำลังสร้างรับเบอร์ ซิตี้ สำหรับปัญหาเรื่องยางล้อรถยนต์ที่ราคาลง เพราะราคาน้ำมันอยู่ในขาลง การผลิตยางต่าง ๆ จึงไปใช้ยางสังเคราะห์แทนเพราะราคาถูกกว่าใช้ยางดิบ ซึ่งเป็นกระแสของเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้ยางภายในประเทศได้มาก ไม่ต้องขายออกนอกประเทศ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางในประเทศได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้คุยกันดีมาก ทุกกลุ่มมาพูดกันหมด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ก็ออกมาแล้ว ทุกคนมีความพอใจ วันนี้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในคณะกรรมการนโยบายธรรมชาติตาม พ.ร.บ.ใหม่ และคณะอนุกรรมการ วันนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ได้ข้อยุติ ไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น รับปากกันว่าจะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งที่จะต้องดูแลทั้งสามส่วน คือเจ้าของสวน ผู้รับจ้างผลิตยาง ผู้กรีดยาง แต่ในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยถือเป็นเรื่องอันตรายต่อข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO การชดเชยราคาส่วนต่างมาก ๆ ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ที่ผ่านมาก็ถูกจับตาดูอยู่ วันนี้ต้องหามาตรการมาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง หาแนวทางให้เขาดูแลตัวเองได้ในเวลาที่ยางราคาตก ด้วยการสนับสนุนให้ปลูกพืชเสริม เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างห่วงโซ่คุณค่าขึ้นมาให้เชื่อมโยงกับการตลาดทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ตลาดการค้าชายแดน CLMV ไปสู่ประชาคมโลกอื่น ๆ วันนี้ได้คุยกันทั้งหมด เข้าใจกันแล้ว ซึ่งบางอย่างทำได้ทันที แต่บางอย่างต้องใช้เวลาเดินหน้า และในปีนี้จะมีเรื่องที่ขับเคลื่อนได้บ้าง เช่น การศึกษาการลงทุนเรื่องสถานีทดสอบยาง กับสถานีทดสอบยางรถยนต์ ที่จะทำทั้งสองอย่าง มีหลายประเทศที่ให้ความสนใจในเรื่องการทดสอบยาง จึงจะถือโอกาสสร้างสถานีทดสอบยางรถยนต์ไปด้วย เพื่อประโยชน์ในอนาคต
“ รัฐบาลนี้จะไม่คิดในเรื่องที่แก้ปัญหาแล้วจบเป็นครั้ง ๆ แต่จะแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาปลีกย่อย แล้วรวมกันเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น ขอให้เห็นใจเข้าใจการใช้งบประมาณของภาครัฐด้วย เพราะภาครัฐก็มีปัญหาเรื่องรายได้ของรัฐ เรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องภาระหนี้สิน การลงทุนประเทศ การลงทุนที่เป็นหนี้ที่มีมูลค่าในอนาคต เหล่านี้จะต้องทำทั้งหมด และขอฝากไปถึงเกษตรกรอื่น ๆ ด้วยว่า รัฐบาลดูแลทุกภาคส่วน ทั้งข้าว ยาง มันสำปะหลัง สับปะรด อ้อย พืชสำคัญทั้งหมด บางอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ไม่มีปัญหา ราคาสูงขึ้นบ้าง ราคาทรงตัว ปัญหามีเรื่องเดียวคือต้องลดการผลิตให้ได้ทุกอย่าง ถ้าลดต้นทุนการผลิตได้ ราคาก็จะต่ำทำให้มีส่วนต่างมากขึ้น และจะทำให้ใช้เงินแก้ปัญหาน้อยลง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ได้รับความสนใจจากเกษตรกรจำนวนมากถึง 50,000 ราย จากที่ตั้งเป้าไว้ 30,000 ราย จึงจะมีการขยายเวลาโครงการออกไป และหากมีเกษตรกรสนใจมากขึ้น จะเพิ่มวงเงินในปลายปีนี้ขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ผู้กรีดยาง เจ้าของสวนยาง ก็ได้ข้อยุติที่เห็นตรงกันว่า รัฐบาลไม่สามารถชดเชยส่วนต่างได้เพราะจะมีปัญหาและอาจไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร จึงจะต้องหาทางสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเกษตรกรให้เกษตรกรสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงเกษตรฯ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ข้อสรุปทั้งหมด และในสัปดาห์ถัดไปจะนำผลการประชุมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริงและตรงกับความต้องการของเกษตรกร โดยเชื่อว่าการทำงานใน 2 สัปดาห์นี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเกษตรกรได้ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับสต๊อกยางพาราที่มีอยู่ขณะนี้มีเงื่อนไขและพันธะสัญญาที่จะขายให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยจะยังเดินหน้าต่อไป หากการประชุมในสัปดาห์หน้ามีมาตรการที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะดีขึ้น
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวถึงในเรื่องการชดเชยว่า เกษตรกรก็ยอมรับ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้พูดคุยกันเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการพูดคุยกันว่าเราไม่อยากจะทำอะไรที่ผิดกติกา หรือผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งเรื่องที่จะถูกจับตาจากต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรเข้าใจดีและบอกว่าไม่เอาแล้วที่จะมาชดเชยราคา มาคุยกันดีกว่าว่าจะให้มีการช่วยเหลืออย่างไรให้ตรงกับความต้องการ และครอบคลุมทุกมิติ ส่วนเรื่องราคายาง กระทรวงเกษตรฯ มีแผนงาน นอกจากการไปหาตลาดเพิ่มที่ได้ทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการเร่งรัดติดตามสัญญาต่าง ๆ ที่มีพันธะกรณีอยู่แล้ว เพื่อให้มีการดึงปริมาณยางจากตลาดออกไปส่วนหนึ่ง สำหรับ พ.ร.บ.การยางฯ มีข้อยุติและจะเดินหน้า พ.ร.บ.การยางฯ ตามกำหนดระยะเวลาภายใน 11 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้องค์กรเกี่ยวกับยางจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ถ้าทำไปพร้อม ๆ กันไปทั้งหมดราคายางจะดีขึ้น วันนี้เรื่องยางพาราจะเดินหน้าไปเป็นมิติที่ดีที่ทุกคนมาร่วมกัน มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และเข้าใจว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มเกษตรกร
ที่มา: http://www.thaigov.go.th