โฆษกรัฐบาลเผย คำสั่ง หน.คสช. 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยันใช้พื้นที่หลวง ไม่มีการเวนคืน วอนประชาชนและสื่อยึดหลักกฎหมาย แก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 21, 2015 15:23 —สำนักโฆษก

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณี นายกรัฐมนตรีและหน.คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่ง หน.คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน นั้น ขอเรียนชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

1. รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยไปกว่าภาคการเกษตร จึงมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก แก่ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นการช่วยจุนเจือธุรกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการศึกษา เพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนได้ทำงานในท้องถิ่นของตน

2. การจัดหาที่ดินเพื่อกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลมองผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก โดยเลือกจากพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เน้นจัดหาจากพื้นที่ของรัฐ ทั้งที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่สาธารณะก่อนเป็นลำดับแรก โดยไม่มีการเวนคืนที่ดิน เว้นแต่จะมีการแลกเปลี่ยนที่ดินกับเอกชนเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีพื้นที่ติดกัน อย่างไรก็ดี พื้นที่ของรัฐหลายแห่งถูกประชาชนบุกรุก ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิการครอบครอง ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงมีคำสั่งที่ 17/2558 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งรัดกระบวนการทำงาน และผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งหมายรวมถึง การเร่งพิสูจน์สิทธิ์ การเจรจากับชาวบ้าน การจ่ายเงินช่วยเหลือ หรือหาที่ดินทำกินที่เหมาะสมให้ โดยมิได้ละเลยความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

3. ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่สาธารณะมานานแล้ว การแก้ไขปัญหาก่อนหน้าที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาก็มักไม่ค่อยมีผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากภาคการเมืองต้องการรักษาฐานคะแนนเสียง หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งชาวบ้านอ้างสิทธิการครอบครองพื้นที่โดยบางส่วนไม่มีเอกสารสิทธิ์ บางส่วนอ้างว่ามีเอกสารและยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีนายทุนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการเก็งกำไร จนเอกชนที่ประสงค์จะทำธุรกิจไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้

4. รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจหรือละเลยความเดือดร้อนของชาวบ้าน ม.4 และม.7 ต.สายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจังหวัดตากได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการสำรวจรายชื่อราษฎร ข้อมูลที่ดิน และจัดทำรายละเอียดของสิ่งปลูกสร้างและพืชผล เพื่อประกอบการพิจารณาหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนที่เหมาะสม จัดหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ ส่งเสริมอาชีพ และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ขณะนี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากราษฎรให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูล จึงขอวิงวอนประชาชนให้ยอมรับหลักการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นกติกาของสังคม หันหน้ามาพูดคุยกัน โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

5. รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมาตรการจูงใจนักลงทุนและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และอื่น ๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนรายใดเป็นพิเศษ เนื่องจากนักลงทุนจำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขายหรือเช่าที่ดิน และรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยรัฐกำหนดอัตราค่าซื้อขายหรือเช่าที่ดินและสาธารณูปโภคอย่างเหมาะสม ไม่เอาเปรียบนักลงทุน และรายรับที่ได้ตกเป็นของแผ่นดิน ขณะเดียวกัน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปของนิคมอุตสาหกรรม จะดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งการจัดทำระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ การจัดตั้งโรงงานที่ได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตและการตรวจสอบที่ชัดเจน และมีระบบกำจัดของเสียและมลพิษอย่างถูกสุขลักษณะ

“รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยดูแลทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร จึงไม่อยากให้ประชาชนส่วนหนึ่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไปจนละเลยประโยชน์ของชาติ ขณะที่สื่อมวลชนเองควรพิจารณาข้อมูลอย่างถ้วนถี่ก่อนนำเสนอข่าว ไม่รับข้อมูลด้านเดียว เพราะสื่อเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนสังคม จึงควรทำหน้าที่สะท้อนความถูกต้อง ดีงาม ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ